ผลของการใช้แนวทางปฏิบัติการดูแลผิวหนังผู้ป่วยที่มีปัญหาการควบคุมการขับถ่ายในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อภาวะผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสอุจจาระ/ปัสสาวะ
พัฒนา พึ่งศิริ
กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก 63000
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการปกป้องผิวหนัง ระหว่างแป้งที่มีส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์ ปิโตรเลียมเจล และผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรผสมระหว่างปิโตรเลียมเจลกับแป้งที่มีส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์ กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2558 ถึง กุมภาพันธ์ 2559 และมีคะแนนความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสอุจจาระ/ปัสสาวะ มากกว่าหรือเท่ากับ 4 คะแนนขึ้นไป จำนวน 94 ราย สุ่มตัวอย่างแบบง่ายด้วยการกำหนดรหัสเข้ากลุ่มตามลำดับ 3 กลุ่ม เก็บรวบรวมข้อมูลและ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาเปรียบเทียบความแตกต่างของตัวแปร ด้วยสถิติไคสแควร์และ Kruskol Wallis Test
                ผลการศึกษาพบว่าประสิทธิภาพในการปกป้องผิวหนังด้วยผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิด เมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง 7 วัน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01) โดยพบว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรผสมระหว่างปิโตรเลียมเจลกับแป้งที่มีส่วนผสมของซิงค์ออกไซด์ มีค่ามัธยฐาน (ควอร์ไทล์ที่ 1 และ 3) ลดลงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มตัวอย่างที่มีค่าคะแนนระดับความรุนแรงของภาวะผิวหนังอักเสบเท่ากับ 0 ในวันแรก และใช้ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง 7 วัน พบว่าเกิดผื่นน้อยที่สุดคิดเป็นร้อยละ 10 ผลการศึกษาสามารถนำไปพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการดูแลผิวหนังผู้ป่วยที่มีปัญหาการควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ เพื่อป้องกันและลดการเกิดภาวะผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสอุจจาระ/ปัสสาวะ
 
 
ที่มา
Regional 11 Medical Journal ปี 2560, January-March ปีที่: 30 ฉบับที่ 1 หน้า 59-67
คำสำคัญ
Incontinence Associated Dermatitis (IAD), Perineal Assessment Tool (PAT), incontinence associated dermatitis severity (IADS), ภาวะผิวหนังอักเสบจากการกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้, เครื่องมือประเมินภาวะผิวหนังอักเสบจากปัสสาวะอุจจาระ, การประเมินความรุนแรงของภาวะผิวหนังอักเสบ