เปรียบเทียบการใช้ Heated Humidified High Flow Nasal Cannula (HHHFNC) และ Nasal Continuous Positive Airway Pressure (NCPAP) หลังถอดท่อช่วยหายใจในทารกแรกเกิดก่อนกำหนด
กุสุมา สยะนานนท์*, อารียา ดีสมโชค
กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก อำเภอพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000
บทคัดย่อ
Nasal continuous Positive Airway Pressure (NCPAP) เป็นอุปกรณ์ช่วยหายใจชนิดไม่รุกล้ำที่นำมาใช้เพื่อช่วยลดความล้มเหลวจากการถอดท่อช่วยหายใจ และช่วยลดภาวะหยุดหายใจในทารกเกิดก่อนกำหนด แต่เนื่องจากมีการบาดเจ็บต่อจมูกเกิดขึ้นบ่อย จึงเริ่มมีการใช้ Heated Humidified High Flow Nasal Cannula (HHHFNC) มากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ทารกสบายและลดภาวะบาดเจ็บต่อจมูก งานวิจัยชนิดทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมนี้ศึกษาในทารกเกิดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 32 สัปดาห์ และน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 1,250 กรัม ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 เปรียบเทียบอัตราความล้มเหลวจากการถอดท่อช่วยหายใจภายใน 3 วันหลังถอดท่อช่วยหายใจ โดยกลุ่มศึกษาใส่ HHHFNC กลุ่มควบคุมใส่ NCPAP มีทารก 48 คนถูกคัดเข้าร่วม งานวิจัย แบ่งออกเป็น 22 คนอยู่ในกลุ่ม HHHFNC และ 26 คนอยู่ในกลุ่ม NCPAP พบว่าข้อมูลพื้นฐานของมารดาและทารกทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันยกเว้นการได้รับสารลดแรงตึงปอด ซึ่งกลุ่ม HHHFNC ได้รับน้อยกว่ากลุ่ม NCPAP (p = 0.030) ผลการศึกษาที่ 3 วันหลังถอดท่อช่วยหายใจ ทั้ง 2 กลุ่มมีอัตราความล้มเหลวจากการถอดท่อช่วยหายใจไม่แตกต่างกัน (HHHFNC 1/22 [4.6%] เทียบกับ NCPAP 4/26 [15.4%]; p = 0.357) เช่นเดียวกับการเกิดภาวะบาดเจ็บต่อจมูกและความไม่สุขสบายของทารก ในทางตรงข้ามด้านความพึงพอใจในการพยาบาลทารกแรกเกิดและความพึงพอใจของบิดามารดา กลุ่ม HHHFNC ได้รับความพึงพอใจมากกว่ากลุ่ม NCPAP อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.034 และ 0.011 ตามลำดับ) ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า HHHFNC สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยหายใจทางเลือกที่มีประสิทธิผลไม่แตกต่างจาก NCPAP แต่เมื่อพิจารณาในด้านความพึงพอใจ HHHFNC เป็นทางเลือกที่ดีกว่า
 
ที่มา
พุทธชินราชเวชสาร ปี 2560, May-August ปีที่: 33 ฉบับที่ 2 หน้า 156-167
คำสำคัญ
Preterm, ทารกเกิดก่อนกำหนด, high flow nasal cannula, NCPAP, post extubation, หลังถอดท่อช่วยหายใจ