ต้นทุนการจัดบริการต่อหัวประชากรของเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ
อุทุมพร วงษ์ศิลป์*, อาณัติ วรรณศรี, พัชนี ธรรมวันนา, ดิชพงศ์ พงศ์ภัทรชัย, ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย, ถาวร สกุลพาณิชย์
สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
บทคัดย่อ
            การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนต่อหัวประชากรสำหรับการจัดบริการระดับปฐมภูมิของโรงพยาบาลแม่ข่ายและหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นเครือข่าย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลต้นทุนจากโรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำหรับปีงบประมาณ 2557 จำแนกต้นทุนของหน่วยบริการเป็นต้นทุนค่าแรง (labour cost) ต้นทุนค่าวัสดุ (material cost) และต้นทุนการใช้สินทรัพย์ (capital cost) จาการวิเคราะห์ต้นทุนการรักษาผู้ป่วยนอกต่อหัวประชากร โดยจำแนกตามกิจกรรม 4 ด้าน คือ การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพหรือกายภาพบำบัด และด้านการแพทย์แผนไทย สามารถสรุปได้ดังนี้
                การศึกษาต้นทุนของโรงพยาบาลแม่ข่ายต่อประชากรที่รับผิดชอบ จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลทั่วไป 2 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนเฉลี่ยของการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกต่อประชากรที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลทั่วไปคือ 1,215 บาท (SD = 148) ทั้งนี้ เมื่อรวมต้นทุนของบริการปฐมภูมิทั้ง 4 ด้าน อันได้แก่ งานรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค งานภายภาพบำบัดและงานแพทย์ไทย มีต้นทุนเฉลี่ยต่อหัวประชากร 1,581 บาท (SD = 184) ขณะที่ต้นทุนของค่าเฉลี่ยของโรงพยาบาลชุมชนคือ 800 บาท (SD = 51) ทั้งนี้ เมื่อรวมต้นทุนของบริการปฐมภูมิทั้ง 4 ด้าน มีต้นทุนเฉลี่ยต่อหัวประชากร 925 บาท (SD = 60)
                การศึกษาต้นทุนของ รพ.สต. ในเครือข่ายบริการต่อประชากรที่รับผิดชอบ จำนวน 10 แห่ง ผลการศึกษา พบว่า มีต้นทุนเฉลี่ยการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกต่อประชากรที่รับผิดชอบคือ 372 บาท (SD = 211) ทั้งนี้ เมื่อรวมต้นทุนของบริการปฐมภูมิทั้ง 4 ด้าน มีต้นทุนเฉลี่ยต่อหัวประชากร 787 บาท (SD = 425) ทั้งนี้ บริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหรือกายภาพบำบัดและบริการด้านการแพทย์แผนไทยไม่ได้มีการให้บริการในทุกหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นลูกข่าย เนื่องจากบริการดังกล่าวต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะด้านเท่านั้นจึงจะสามารถให้บริการได้ การศึกษานี้มีข้อจำกัด คือจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษามีจำนวน้อย และเป็นการศึกษาย้อนหลังจึงทำให้มีข้อมูลหรือสถิติจำกัด ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติม
 
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2559, July-September ปีที่: 10 ฉบับที่ 3 หน้า 307-320
คำสำคัญ
Unit cost, Primary care unit, contracting unit for primary care, ต้นทุนต่อหัวประชากร, ต้นทนบริการปฐมภูมิ, เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ