ผลของดนตรีบำบัดต่อความวิตกกังวล, ความเจ็บปวดและความพึงพอใจระหว่างการสลายนิ่ว
สุทธิพันธ์ วงศ์วนากุล*, บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์, พฤทธิ์ กิติรัตน์ตระการ, จักรกริช กล้าผจญ
Division of Urology, Faculty of Medicine, Chiangmai University, Chiangmai, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การรักษานิ่วบริเวณไตและนิ่วในท่อไตด้วยวิธีการสลายนิ่วทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลและความเจ็บปวดวัตถุประสงค์การศึกษานี้ เพื่อศึกษาผลการฟังดนตรีคลาสสิกขณะสลายนิ่วต่อความวิตกกังวล ความเจ็บปวดและความพึงพอใจของผู้ป่วย
ผู้ป่วยและวิธีการศึกษา: การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมโดยเป็นผู้ป่วย จำนวน 57 คนที่มารักษานิ่วโดยวิธีการสลายนิ่วในโรงพยาบาลมหาราช เชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ถึงเดือนมกราคม 2558 แบ่งเป็นกลุ่มฟังดนตรีคลาสสิก 15 นาทีก่อนการสลายนิ่ว จำนวน 28 คน และกลุ่มที่ไม่ได้ฟังดนตรีคลาสสิก จำนวน 29 คน โดยเปรียบเทียบความวิตกกังวลก่อนและหลังสลายนิ่ว ความเจ็บปวดและความพึงพอใจหลังสลายนิ่วของทั้งสองกลุ่ม
ผลการรักษา: ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติใน เพศ ดัชนีมวลกาย อัตราการหายใจ อัตราการเต้นหัวใจความดันโลหิต ความวิตกกังวลก่อนสลายนิ่ว ลักษณะของนิ่ว ลักษณะการสลายนิ่ว รวมทั้งความเจ็บปวด (p=0.835) และความพึงพอใจ (p = 0.055) หลังการสลายนิ่วระหว่างสองกลลุ่ม แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่ฟังดนตรีคลาสสิกมีความวิตกกังวลหลังสลายนิ่วน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฟังดนตรีคลาสสิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.010)
สรุป: การฟังดนตรีคลาสสิกเป็นเครื่องมือราคาถูกที่สามารถลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยระหว่างการสลายนิ่วได้
 
ที่มา
วารสารยูโร ปี 2558, July-December ปีที่: 36 ฉบับที่ 2 หน้า 33-41
คำสำคัญ
pain, SATISFACTION, ความพึงพอใจ, ความเจ็บปวด, Anxiety, ความวิตกกังวล, extracorporeal shock wave lithotripsy, classical music listening, การสลายนิ่ว, การฟังดนตรีคลาสสิก