รูปแบบการให้ใบสั่งการออกกำลังกายในผู้เป็นเบาหวานและ/หรือความดันโลหิตสูง
N Launchumroen
Nopparat Ratchathani Hospital, Raminthra Rd., Khwang Khanna Yao, Khet Khanna Yao, Bangkok, 10230 ; Email:tonnorarit@yahoo.com
บทคัดย่อ
เป็นการศึกษาเชิงทดลอง เพื่อศึกษาผลของรูปแบบการให้ใบสั่งการออกกำลังกายด้วยการเดินโดยมีเครื่องนับก้าว สมุดบันทึกการออกกำลังกาย และการนัดติดตามอาการ เปรียบเทียบกับการได้รับคำแนะนำเรื่องการออกกำลังกายตามปกติของโรงพยาบาล ต่อสมรรถภาพทางกาย และผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้เป็นเบาหวาน และ/หรือความดันโลหิตสูง อาสาสมัครกลุ่มทดลองได้รับใบสั่งการออกกำลังกาย อาสาสมัครกลุ่มทดลอง 21 คน กลุ่มควบคุม 13 คน อายุเฉลี่ย 61.05 ปี ข้อมูลพื้นฐาน และกิจกรรมทางกาย ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นส่วนสูงเฉลี่ย (กลุ่มทดลอง162.52 เซนติเมตร, กลุ่มควบคุม 154.85 เซนติเมตร) และสัดส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย (กลุ่มทดลอง 10/11, กลุ่มควบคุม 11/2) ในกลุ่มทดลองพบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของในด้านทัศนคติในการออกกำลังกายดีขึ้น (เดือนที่ 0
= 41.9 คะแนน, เดือนที่ 6 = 42.38 คะแนน, p = 0.028) ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลดลง (เดือนที่ 0 = 217.55 mg/dl, เดือนที่ 6 = 170.09 mg/dl, p = 0.025) ระดับน้ำตาลสะสมลดลง (เดือนที่ 0 = 9.46 %, เดือนที่ 6 = 7.67 %, p = 0.006) และระยะการเดินทดสอบ 6 นาทีเพิ่มขึ้น (เดือนที่ 0 = 469.7 เมตร, เดือนที่ 6 = 504.8 เมตร, p = 0.001) แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในด้านน้ำหนักตัว และระดับความดันโลหิต รูปแบบการให้ใบสั่งการออกกำลังกายด้วยการนับก้าวโดยมีเครื่องนับก้าว สมุดบันทึกการออกกำลังกาย และการนัดติดตามอาการได้ผลดีกว่าการให้คำแนะนำการออกกำลังกายตามปกติที่ปฏิบัติกันอยู่ ในแง่ของสมรรถภาพร่างกายการทดสอบเดิน 6 นาที ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และระดับน้ำตาลสะสม
 
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2559, September - October ปีที่: 41 ฉบับที่ 5 หน้า 56-66
คำสำคัญ
Diabetes, hypertension, เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, Pedometer, Exercise prescription, ใบสั่งการออกกำลังกาย, เครื่องนับก้าว