ผลของโปรแกรมการเตรียมความพร้อมอย่างมีแบบแผนต่อความวิตกกังวลของผู้ป่วยผ่าตัดที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลัง ในโรงพยาบาลศรีสะเกษ
ธันยมัย ปุรินัย
สาขาการพยาบาลวิสัญญี โรงพยาบาลศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระดับความวิตกกังวล และพฤติกรรมตอบสนองต่อความวิตกกังวลหลังได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลัง กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบเจาะจง จากผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลังที่ได้รับการผ่าตัดทางศัลยกรรมทั่วไปของโรงพยาบาลศรีสะเกษ จำนวน 90 คน ทำการสุ่มจำแนกกลุ่มแบบจับฉลากไม่คืนที่ ได้กลุ่มทดลอง ที่ได้รับโปรแกรมการเตรียมความพร้อมอย่างมีแบบแผนจำนวน45 คน และกลุ่มควบคุมที่ได้รับบริการตามมาตรฐาน 45 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมการเตรียมความพร้อมอย่างมีแบบแผน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบประเมินความวิตกกังวลต่อการได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลังและ แบบสังเกตพฤติกรรมตอบสนองต่อความวิตกกังวลที่ผ่านการหาคุณภาพด้านความตรงเชิงเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่านและนำไปหาค่าความเที่ยงด้วยวิธีของแอลฟ่าครอนบาค ได้ค่าเท่ากับ .88 และ .86 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และเปรียบเทียบความแตกต่างของความวิตกกังวลและ
พฤติกรรมตอบสนองต่อความวิตกกังวลหลังได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลังระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้สถิติ Independent t-test
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) กลุ่มตัวอย่างมีความคล้ายคลึงกัน โดยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง
51-60 ปี ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การศึกษาระดับประถมศึกษา ไม่เคยรับการผ่าตัดและไม่มีโรคประจำตัวรอเข้ารับการผ่าตัด 1-2 วัน 2) กลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมเตรียมความพร้อมอย่างมีแบบแผนมีคะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลจากการได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลังเท่ากับ 6.67 (SD=1.79) ส่วนกลุ่มควบคุมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 25.89 (SD=2.91) ซึ่งคะแนนความวิตกกังวลต่อการได้รับความรู้สึกทางช่องไขสันหลังของกลุ่มทดลองตํ่ากว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p<.05 (t=4.36, df=72.98, one-way testing) 3) คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการตอบสนองต่อความวิตกกังวลขณะได้รับยาระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลังของกลุ่มทดลองเท่ากับ 1.66 (SD=0.64) ส่วนคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มควบคุมเท่ากับ 2.31 (SD=.66) ซึ่งคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการตอบสนองต่อความวิตกกังวลกลุ่มทดลองตํ่ากว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p<.001 (t=45.59, df=88, one-way testing)
 
ที่มา
วารสารการพยาบาลและการดูแลสุขภาพ ปี 2557, October - December ปีที่: 32 ฉบับที่ 4 หน้า 94-102
คำสำคัญ
Spinal anesthesia, SATISFACTION, Music therapy, Anxiety, ความวิตกกังวล, behavioral response to anxiety, โปรแกรมการเตรียมความพร้อมอย่างมีแบบแผน, พฤติกรรมตอบสนองต่อความวิตกกังวล