คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ในจังหวัดอุบลราชธานี
น้องเล็ก คุณวราดิศัย*, นิตยา ดาววงศ์ญาติ, กิติมา วรรณทอง, ณัฐมน มูลศรีแก้ว, สมภพ ไทยานันท์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
บทคัดย่อ
ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสำคัญในด้านคุณภาพในการดำรงชีวิต งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสรรรพสิทธิประสงค์จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2553 วิธีการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือเป็นเอดส์ทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับยาต้านไวรัสจำนวน 238 ราย จากการสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบ (systemic random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบวัดคุณภาพชีวิตฉบับสั้นขององค์การอนามัยโลก (WHOQOL-HIV-BREF) ซึ่งแบ่งเป็น 6 ด้าน (ด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกเป็นอิสระ สัมพันธภาพทางสังคมสิ่งแวดล้อม และ จิตวิญญาณ) เปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำแนกตามปัจจัยที่ศึกษาได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล(เพศ อายุ อาชีพ รายได้ เป็นต้น) ภาวะโรค (ปริมาณ CD4, viral load, ระยะเวลาของการเป็นโรคและการรักษา) ภาวะแทรกซ้อน การรับรู้ภาวะสุขภาพและการได้รับการดูแลจากบุคคลในครอบครัว โดยใช้ Mann-Whitney U Test และ Kruskal-Wallis Test ผลการศึกษา: ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์มีคะแนนคุณภาพชีวิต (คะแนนเต็ม 4-20) ในแต่ละด้านเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ ด้านความรู้สึกเป็นอิสระ (15.74) ด้านสิ่งแวดล้อม (13.53) ด้านจิตใจ (13.21) ด้านสัมพันธภาพทางสังคม (12.50) ด้านร่างกาย (12.10) ด้านจิตวิญญาณ/ความเชื่อส่วนบุคคล (12.08) คะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมคือ 3.31 (คะแนนเต็ม 5) นอกจากนี้พบว่า ผู้ป่วยที่มีปัจจัยด้านสถานภาพสมรส
อาชีพ รายได้ ภาวะแทรกซ้อน การได้รับการดูแลจากบุคคลในครอบครัว และการรับรู้ภาวะสุขภาพที่แตกต่างกัน จะมีระดับคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05 และ p<0.001) สรุปผล: ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ คลินิกผู้ป่วยนอกควรให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับโรคและการดูแลตนเอง ตลอดจนการป้องกันภาวะแทรกซ้อนรวมถึงการให้กำลังใจจากสังคมและการสนับสนุนทางจิตใจ
 
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2559, April-June ปีที่: 12 ฉบับที่ 2 หน้า 21-32
คำสำคัญ
Quality of life, AIDS, คุณภาพชีวิต, เอดส์, HIV, คุณภาพชี่วิต, เอชไอวี, WHOQOL-HIV-BREF, แบบวัดคุณภาพชีวิตฉบับสั้นขององค์การอนามัยโลก