ผลของการฟังดนตรีตามชอบต่อความปวดและสัญญาณชีพในผู้ป่วยนรีเวชหลังผ่าตัดช่องท้อง
อัจฉราพร โชติพนัง*, อวยพร ภัทรภักดีกุลโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความปวดและสัญญาณชีพในผู้ป่วยนรีเวชหลังผ่าตัดช่องท้องระหว่างกลุ่มฟังดนตรีตามชอบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฟังดนตรีกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเป็นผู้ป่วยนรีเวชที่ได้รับการผ่าตัดทางหน้าท้องในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม พ.ศ. 2553 โดยมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 90 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 45 ราย กลุ่มทดลองคือกลุ่มที่ฟังดนตรีตามชอบ กลุ่มควบคุมคือกลุ่มที่ไม่ได้ฟังดนตรี เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ข้อมูลความปวดและสัญญาณชีพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย อุปกรณ์เครื่องเล่น MP3 ที่บันทึกดนตรีตามชอบ จำนวน 4 ชุด ได้แก่ ลูกทุ่ง ลูกกรุง บรรเลงทั่วไปและบรรเลงไทยเดิม การทดลองเริ่มในระยะ 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด ใช้เวลาในการทดลอง 30 นาที 2 ครั้ง วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความปวด สัญญาณชีพโดยการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างของข้อมูลระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมด้วยการทดสอบไคสแควร์และทดสอบค่าทีอิสระ
ผลการวิจัย พบว่าทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีระดับความปวดหลังผ่าตัดทั้ง 2 ครั้งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.002 และ 0.02 ตามลำดับ โดยกลุ่มทดลองมีระดับความปวดน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ส่วนการเปลี่ยนแปลงสัญญาณชีพแม้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ความดันโลหิตซีสโตลิกและไดแอสโตลิก ชีพจร การหายใจในกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยครั้งนี้คือ พยาบาลควรจัดให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้องได้ฟังดนตรีตามชอบ นอกจากนี้สามารถปรับใช้กับกลุ่มผู้ป่วยอื่นที่มีลักษณะการผ่าตัดใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้
ที่มา
Nursing of Journal of the Ministry of Public Health ปี 2558, May-August
ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 43-53
คำสำคัญ
pain, ความปวด, Favorite music, gynecologic abdominal surgery, ดนตรีตามชอบ, ผ่าตัดช่องท้องทางนรีเวช