ต้นทุน-ประสิทธิผลของการใช้ยาละลายลิ่มเลือด tenecteplase (TNK) เปรียบเทียบกับ streptokinase (SK) ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจชนิด ST-elevated myocardial infarction (STEMI)
บุญจง แซ่จึง, พัชณี ร่มตาล, สมเกียรติ โพธิสัตย์, สุวรรณี ตั้งวีระพรพงศ์, อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ*, เกรียงไกร เฮงรัศมี
สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์
บทคัดย่อ
ปัจจุบัน Tenecteplase tissue type plasminogen activator (TNK-tPA) เป็นยาละลายลิ่มเลือดที่นำมาใช้ในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจชนิด ST-elevated myocardial infarction (STEMI) อย่างแพร่หลายในต่างประเทศและเป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในแนวทางเวชปฏิบัติการรักษา STEMI เนื่องจาก tenecteplase มีคุณสมบัติเป็นยาละลายลิ่มเลือดโดยออกฤทธิ์สลายไฟบริน (fibrinolysis agent) ประสิทธิผลของ tenecteplase ประเมินด้วยอัตราการเปิดของหลอดเลือดหัวใจ (patency rate) ซึ่งแปรผกผันกับอัตราการเสียชีวิต โดยพิจารณาจากค่า TIMI (Thrombolysis in Myocardial Infarction) score 2 หรือ 3 ที่เวลา 90 นาทีภายหลังฉีด พบว่า tenecteplase มี patency rate ร้อยละ 85.0 มีอัตราการเกิดเลือดออกในกะโหลกศีรษะ (intracranial hemorrhage)ได้ร้อยละ 0.9 ประเทศไทยใช้ streptokinase เป็นยาละลายลิ่มเลือดในการรักษา STEMI ทั้งนี้  streptokinase มี patency rate ที่ 90 นาที เป็นร้อยละ 60.0 – 68.0 และเกิดเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้ร้อยละ 0.5 แม้ว่า tenecteplase มีประสิทธิผลของการรักษาสูงกว่า streptokinase แต่ต้นทุนของยา tenecteplase ก็สูงกว่าด้วย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ในการหาความคุ้มค่าของการใช้ยา tenecteplase มาใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใชชนิด STEMI เปรียบเทียบกับยา streptokinase โดยใช้แบบจำลองการตัดสินใจในการทำนายความคุ้มค่าของการใช้ยาละลายลิ่มเลือดทั้ง 2 ชนิด รวมถึงผลกระทบด้านงบประมาณที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พบว่าต้นทุนโดยรวมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของการรักษาผู้ป่วย STEMI ด้วยยา streptokinase รวมต้นทุนค่ารักษาเลือดออกในกะโหลกศีรษะที่อาจเกิดขึ้นจากยา ในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ (healthcare provider) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 134,030 บาทต่อการรักษา 1 ราย หากเปรียบเทียบกับต้นทุนรวมของการรักษาด้วยยา tenecteplase พบว่าเป็นจำนวนเงิน 115,500 บาทต่อการรักษา 1 ราย ซึ่งต่ำกว่า streptokinase เป็นจำนวนเงิน 18,530 บาท ประมาณการว่าผู้ป่วยที่เข้าถึงและได้รับยาละลายลิ่มเลือดตามเกณฑ์การให้ยามีประมาณ 3,500 ราย (ร้อยละ 35.0) ต่อปี หากผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจใช้ tenecteplase รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจชนิด STEMI งบประมาณที่คาดว่าจะต้องใช้ประมาณ 404 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถูกกว่าการใช้ยา streptokinase เป็นจำนวนเงินประมาณ 65 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจชนิด STEMI ด้วยยาละลายลิ่มเลือด tenecteplase มีต้นทุนโดนรวมต่ำกว่าแต่มีประสิทธิผลในการรักษาสูงการการใช้ยา streptokinase ภายใต้เงื่อนไขของการศึกษาและข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน
 
 
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2557, July-September ปีที่: 39 ฉบับที่ 3 หน้า 173-183
คำสำคัญ
โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหัวใจขาดเลือด, Tenecteplase, Streptokinase, ST-elevated myocardial infarction (STEMI), ยาละลายลิ่มเลือด