คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีรอยโรคไขสันหลัง
เบ็ญจมาศ สลิลปราโมทย์
กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลพัทลุง
บทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะมีรอยโรคไขสันหลังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสมรรถภาพทางกายและจิตใจ ส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และยากต่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยที่มีรอยโรคไขสันหลัง
วิธีการศึกษา: การศึกษาภาคตัดขวาง โดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่แผนกเวชกรรมฟื้นฟูโรงพยาบาลพัทลุง ตั้งแต่พฤษภาคม 2558 ถึงเมษายน 2559 โดยมีระยะเวลาหลังจากมีรอยโรคไขสันหลังตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สัมภาษณ์และเก็บข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย ประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (SCIM III) ประเมินคุณภาพชีวิต (WHOQOL-BREF ฉบับภาษาไทย) และประเมินอาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า (THAI-HADs)
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่มีรอยโรคไขสันหลัง 73 คน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ร้อยละ 38.36 มีระดับรอยโรคไขสันหลัง ASIA E ร้อยละ 34.24 คะแนนเฉลี่ยความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย (SCIM III) 64.60 คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิต 85.63 รวมคุณภาพชีวิตระดับปานกลาง และคะแนนคุณภาพชีวิตทุกด้านอยู่ในระดับปานกลางทั้งสิ้น ร้อยละ 6.84 มีอาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าแต่ยังไม่ผิดปกติชัดเจน ปัจจัยที่มีผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การประกอบอาชีพ ระดับรอยโรคไขสันหลัง ความสามารถของผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน รายได้ที่เพียงพอหลังมีรอยโรคไขสันหลังและการมีผู้ช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน (OR 4.952, 3.971, 0.298, 0.281 และ 0.111 ตามลำดับ)
สรุป: ผู้ป่วยที่มีรอยโรคไขสันหลังมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง ปัจจัยที่มีผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้แก่ การประกอบอาชีพ ระดับรอยโรคไขสันหลัง ความสามารถของผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน รายได้ที่เพียงพอ หลังมีรอยโรคไขสันหลัง และการมีผู้ช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน
 
ที่มา
วารสารวิชาการเขต 12 ปี 2559, May-August ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 112-118
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, patients with spinal cord lesion, รอยโรคไขสันหลัง