การวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ของโปรแกรมปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตสำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการเมแทบอลิกชาวไทย
อาณัติ สกุลทรัพย์ศิริ, พรรณทิพา ศักดิ์ทอง*
Department of Pharmacy Practice, Faculty of Pharmaceutical Sciences, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand; E-mail:phantipa.s@pharm.chula.ac.th
บทคัดย่อ
เหตุผลของการทำวิจัย: หลายงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าโปรแกรมปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตสำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการเมแทบอลิกมีประโยชน์ทางคลินิกและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่ยังไม่พบการประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุขของโปรแกรมดังกล่าวในประเทศไทยมาก่อน
วัตถุประสงค์: การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าของโปรแกรมปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตสำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการเมแทบอลิกชาวไทยเปรียบเทียบกับการรักษาตามปกติ
รูปแบบการวิจัย: การวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิร่วมกับการใช้แบบจำลอง
สถานที่ทำการวิจัย: ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิธีการวิจัย: การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ โดยใช้เทคนิค Markov micro-simulation ร่วมกับ Differences-in-Differences method ในการคาดการณ์ต้นทุนในมุมมองของสังคมและปีสุขภาวะที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบทางเมแทบอลิกของผู้เข้าร่วมงานวิจัย 90 รายจากการศึกษาของ อรวรรณ ประภาศิลป์และคณะ ในกลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมและกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติ กำหนดอัตราลดร้อยละ 3 ต่อปีในการปรับลดต้นทุนและผลลัพธ์ อีกทั้งวิเคราะห์ความไวเพื่อให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ในแบบจำลอง
ผลการวิจัย: ต้นทุนตลอดชีพของทั้งสองกลุ่มที่คำนวณจากองค์ประกอบทางเมแทบอลิก ในสัปดาห์ที่ 12 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนในสัปดาห์แรก ซึ่งกลุ่มทดลองมีต้นทุนลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุม ดังนั้นโปรแกรมนี้สามารถประหยัดต้นทุนตลอดชีพได้ 2,280 บาท และเพิ่มปีสุขภาวะได้ 0.0098 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาตามปกติ และจากการวิเคราะห์ความไวพบว่า โปรแกรมนี้มีโอกาสที่จะคุ้มค่าถึงร้อยละ 99.6 เมื่อพิจารณาจากเพดานความเต็มใจที่จะจ่ายของสังคมไทย
สรุป: โปรแกรมปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตสำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการเมแทบอลิก มีความคุ้มค่า สามารถลดต้นทุนตลอดชีพและเพิ่มจำนวนปีสุขภาวะได้
 
ที่มา
จุฬาลงกรณ์เวชสาร ปี 2559, January-February ปีที่: 60 ฉบับที่ 1 หน้า 13-30
คำสำคัญ
Thailand, Cost-effectiveness analysis, ประเทศไทย, Cost-utility analysis, PROGRAM, Lifestyle Modification, การวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผล, Metabolic syndrome, การวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์, โปรแกรมปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต, กลุ่มอาการเมแทบอลิก