การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรเมื่อให้ยาออกซิโตซินตลอดระยะคลอด เทียบกับการหยุดยาออกซิโตซินในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว
ลลิดา ชูกิจกุล*, สินาท พรหมมาศ, ปิยะวรรณ ปริยวาทีกุล, นวภรณ์ ออรุ่งโรจน์, บุปผา สมานชาติ, คมสันติ์ สุวรรณฤกษ์
Department of Obstetrics and Gynecology, Bhumibol Adulyadej Hospital, Phaholyothin Road, Bangkhen, Bangkok 10220, Thailand; Phone: 662-534-7314, Fax: 662-534-7319, E-mail: popme11@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอัตราการผ่าตัดคลอดบุตรเมื่อหยุดยาออกซิโตซินในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว เทียบกับการให้ยาออกซิโตซินตลอดระยะคลอด
วัสดุและวิธีการ: งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มไปข้างหน้า ในสตรีตั้งครรภ์เดี่ยวจำนวน 340 ราย ที่นัดมารับการชักนำการคลอดหรือสามารถให้ยาออกซิโตซินเพื่อส่งเสริมการคลอดได้ ที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2557 ถึงมกราคม 2558 โดยแบ่งสตรีตั้งครรภ์แบบสุ่มเป็นสองกลุ่มจำนวนเท่ากัน คือ กลุ่มที่ได้รับยาออกซิโตซินตลอดระยะคลอด และกลุ่มที่หยุดยาออกซิโตซินในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว โดยวิเคราะห์แบบ Intention to treat
ผลการศึกษา: สตรีตั้งครรภ์เดี่ยวจำนวน 340 คน ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 170 คน อัตราการผ่าตัดคลอดบุตรในกลุ่มให้ยาออกซิโตซินตลอดระยะคลอด และกลุ่มที่หยุดยาออกซิโตซินในระยะปากมดลูกเปิดเร็วเท่ากับ 31.8% และ 27.7% ตามลำดับ ซึ่งไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.40) การให้สารน้ำที่มีออกซิโตซินในกลุ่มให้ตลอดระยะเวลาคลอด จำเป็นต้องหยุดจำนวน 15 ราย เนื่องจากอัตราการเต้นของหัวใจทารกผิดปกติ และจำนวนออกซิโตซินที่ใช้มีปริมาณมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับ
กลุ่มที่หยุดยาออกซิโตซินมีการให้ออกซิโตซินเพิ่มเติมเนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูกไม่ดี ระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละระยะการคลอด ภาวะแทรกซ้อนของมารดาและทารกแรกเกิด ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีสตรีที่ตกเลือดหลังคลอด 2 ราย ในกลุ่มที่หยุดยาออกซิโตซินในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว แต่สามารถรักษาได้โดยใช้ยา
สรุป: ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าการหยุดหรือให้ยาออกซิโตซินในระยะปากมดลูกเปิดเร็วมีผลต่ออัตราการผ่าตัดคลอดบุตรหรือไม่ อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาออกซิโตซินตลอดระยะคลอด มีการใช้ยาในขนาดที่สูงกว่า ในอนาคตควรมีการศึกษาแบบสุ่มไปข้างหน้าด้วยขนาดตัวอย่างที่มากขึ้น
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2559, ปีที่: 24 ฉบับที่ 2 หน้า 73-80
คำสำคัญ
labor, oxytocin, cesarean section rate