ต้นทุนการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งแบบประคับประคองในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
อุษาษ์ โถหินัง*, จุฑามาศ วงษ์สารภี, ขจีพรรณ แก้วปานันท์, สุนิษา บุตรคุณขุนทอง, สลิลรักษ์ อริยานุกิจจา
สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการวิจัย: เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งแบบประคับประคองในมุมมองผู้ให้บริการและผู้รับบริการทั้งแผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก
การออกแบบวิจัย: การวิจัยเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง ( Cross-sectional descriptive study)
การดำเนินการวิจัย: การวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ต้นทุนโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive selection) 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้ให้บริการผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งแบบประคับประคอง จำนวน 100 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการบันทึกข้อมูลแบบย้อนหลังในปีงบประมาณ 2554 2) กลุ่มผู้รับบริการ เก็บรวบรวมข้อมูลแบบไปข้างหน้าโดยการสัมภาษณ์และการสังเกต ขณะที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกจำนวน 98 คน และผู้ป่วยใน 50 คน รวม 148 คน ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555-30 กันยายน พ.ศ. 2555 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลผู้ให้บริการและแบบสัมภาษณ์ผู้มารับบริการ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพรรณนา (Descriptive statistic) เพื่อหาจำนวนร้อยละและค่าเฉลี่ย
ผลการวิจัย: พบว่า ต้นทุนผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งแบบประคับประคองที่มารักษาในแผนกผู้ป่วยนอกรวม 539.90 บาทต่อครั้ง เป็นต้นทุนผู้ให้บริการ 263.90 บาท (ต้นทุนที่ไม่ได้เก็บค่าบริการ 234.50 บาท และต้นทุนการให้บริการทางการแพทย์ 29.40 บาท) และต้นทุนผู้รับบริการ 276 บาทต่อครั้ง (ต้นทุนที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์ 96 บาท และต้นทุนค่าเสียโอกาส 180 บาท) ส่วนต้นทุนผู้ป่วยในรวม 1,711.30 บาทต่อวันนอน เป็นต้นทุนผู้ให้บริการ 1,312.30 บาท (ต้นทุนที่ไม่ได้เก็บค่าบริการ 684 บาทและต้นทุนการให้บริการทางการแพทย์ 628.30 บาท) และต้นทุนผู้รับบริการเท่ากับ 399 บาทต่อวันนอน (ต้นทุนที่ไม่ใช่ด้านการแพทย์ 149 บาท และต้นทุนค่าเสียโอกาส 250 บาท)
ข้อเสนอแนะ: ผู้บริหารทางการพยาบาลสามารถนำข้อมูลจากการศึกษานี้ไปใช้ในการวางแผนให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งแบบประคับประคองต่อไป
 
 
ที่มา
วารสารสภาการพยาบาล ปี 2559, July-September ปีที่: 29 ฉบับที่ 3 หน้า 116-128
คำสำคัญ
cost of palliative care, child cancer patients, palliative car, ต้นทุนการรักษาพยาบาล, เด็กโรคมะเร็ง, การดูแลแบบประคับประคอง