การวิเคราะห์ต้นทุนการรักษาเปรียบเทียบระหว่างการเปลี่ยนถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดที่มีเนื้อเยื่อตรงกันจากพี่น้องและการรักษาด้วยการให้เลือดเป็นประจำในผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง
วันเพ็ญ พันธางกูร, วิชช์ เกษมทรัพย์*, นิลทิตา ศรีไพบูลย์กิจ, สามารถ ภคกษมา, อรพรรณ เจียรอดิศักดิ์, สุรเดช หงส์อิง
สำนักงานศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน
บทคัดย่อ
                ผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงต้องได้รับการรักษาด้วยการเติมเลือดทุกเดือนร่วมกับการฉีดยาขับเหล็กทุกวันไปตลอดชีวิต เพื่อบรรเทาอาการเหนือยจากภาวะซีดมากให้พอช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งสำนักงานประกันสุขภาพได้ทำการคำนวณเฉพาะค่ารักษาทางการแพทย์นี้ เมื่อปี พ.ศ.2549 ตั้งแต่เริ่มรักษาจนผู้ป่วยอายุถึง 30 ปี ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายละ 6,660,000 บาท การเปลี่ยนถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเป็นวิธีการเดียวที่รักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และมีความเสี่ยงสูง จุดประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อต้องการประมาณค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของการรักษานี้เปรียบเทียบกับการรักษาแบบเดิมที่ต้องเติมเลือดประจำใน 30 ปีแรกของชีวิต โดยคำนวณและรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดจากค่ายา รวมถึงค่าวิเคราะห์โรคต่างๆ ทางเลือด การตรวจทางรังสี การตรวจต่างๆ การทำหัตถการที่เกี่ยวข้อง ส่วนประกอบของเลือด ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ในช่วงก่อน ขณะทำ และช่วงหลังจากการทำการเปลี่ยนถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ภาวะแทรกซ้อน จนถึงการติดตามการรักษาในช่วงผู้ป่วยนอกจนถึงหยุดยากดภูมิในผู้ป่วยธาลัสซีเมียจำนวน 37 ราย ที่มีเนื้อเยื่อตรงกันครบถ้วนกับผู้ให้ซึ่งเป็นพี่น้องที่โรงพยาบาลรามาธิบดีในปี พ.ศ. 2535- 2551 เฉลี่ยการติดตาม 15 เดือน ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยครั้งละ 957,008 บาท ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าถูกกว่าการรักษาแบบเดิมมาก ผู้ป่วย 35 ราย (ร้อยละ 95) มีชีวิตที่ปราศจากโรคเหมือนคนปกติ
 
ที่มา
รามาธิบดีเวชสาร ปี 2559, April-June ปีที่: 39 ฉบับที่ 2 หน้า 73-81
คำสำคัญ
Thalassemia, Cost analysis, ธาลัสซีเมีย, HEMATOPOIETIC STEM CELL TRANSPLANTATION, การวิเคราะห์ต้นทุนการรักษา, การเปลี่ยนถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด