ผลของการจัดท่าคานาลิทต่อความมั่นคงในการทรงตัวขณะเดินในผู้ป่วยโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด
ธิดาพร ไตรรัตนสุวรรณ, สุวิชา แก้วศิริ, วัชรินทร์ ทายะติ, เพียรชัย คำวงษ์*
Department of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences, Chiang Mai University; e-mail: peanchai.k@cmu.ac.th
บทคัดย่อ
โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดเป็นโรคในระบบเวสติบูลาร์ที่พบได้มากที่สุด พยาธิสภาพของโรคเนื่องมาจากการหลุดของหินปูน ส่วนมากที่พบจะเข้าสู่ท่อครึ่งวงกลมส่วนท้าย ปัจจุบันการรักษาด้วยการจัดท่าคานาลิท (Canalith repositioning procedure; CRP) ได้รับการยอมรับว่าเป็นการรักษาที่ส่งผลต่อการลดระดับอาการเวียนหมุนเหนือการรักษาอื่น วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบผลของการจัดท่าคานาลิทต่อการทรงตัวขณะเดิน อาสาสมัครจำนวน 32 คน อายุเฉลี่ย 57.66 ± 15.65 ปี ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหินปูนหูชั้นในหลุดไปส่วนท้าย ถูกสุ่มเข้ากลุ่ม CRP 16 คนและกลุม่ ควบคุม 16 คน โดยอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มได้รับการตรวจ Dix-hallpike test (DHT) และการทรงตัวขณะเดินโดยใช้แบบประเมิน Functional gait assessment (FGA) ในวันแรกและวันที่สามสำหรับการติดตามผล ผลการศึกษาพบว่าระดับคะแนน FGA ของกลุ่ม CRP มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) เมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างของคะแนนก่อนและหลังการรักษาระหว่างกลุ่มพบว่ากลุ่ม CRP มีส่วนต่างของคะแนน FGA มากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดท่าคานาลิทส่งผลต่อการเพิ่มความก้าวหน้าในการทรงตัวขณะเดินในผู้ป่วยโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดไปส่วนท้าย
 
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2559, January-April ปีที่: 28 ฉบับที่ 1 หน้า 35-47
คำสำคัญ
Balance, การทรงตัว, BPPV, การจัดท่า, Repositioning, Vestibular rehabilitation, โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด, การฟื้นฟูระบบเวสติบูลาร์