ประสิทธิภาพของครีมไพลในการรักษากล้ามเนื้อเคล็ด ขัด ยอก
สุกชม ชีเจริญ*, ธเนศ พัฒนะวิริยะศิริกุล, จารุวรรณ หมั่นมี, กัญญา จันทร์พลDepartment of Orthopedics, Rajavithi Hospital, 2, Phayathai Road, Rajathewi, Bangkok 10400, Thailand; Phone: +66-2-3548108 ext. 2803; E-mail: sukrom@gmail.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: การรักษาอาการเคล็ดขัดยอกกล้ามเนื้อมักใช้ยากลุ่ม Nonsteroidal anti-inflammatory (NSAIDS) แต่ก็มีอาการข้างเคียง
วัตถุประสงค์: การศึกษาเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของครีมไพลและยาหลอกในการรักษากล้ามเนื้อเคล็ด ขัด ยอก
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาทดลองแบบสุ่มติดตามไปข้างหน้าโดยเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม ผู้ป่วยอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 18 ปี ขึ้นไป ที่ได้รับการวินิจฉัยมีอาการเคล็ด ขัด ยอก กลุ่มศึกษาได้รับครีมไพล และกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอก โดยมีจำนวนอาสาสมัครกลุ่มละ 70 คน ประเมินผลการศึกษาโดยเปรียบเทียบคะแนนความปวด (VAS score) คะแนนคุณภาพชีวิต ปริมาณครีมและยาเม็ดบรรเทาปวดที่ใช้
ผลการศึกษา: การตรวจนัดหลังจาก 2 สัปดาห์ ในกลุ่มที่ได้รับไพลครีมมีค่า VAS score ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเวลาเริ่มต้น อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 2 กลุ่ม ค่า VAS score ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ คุณภาพชีวิตระหว่าง 2 กลุ่ม ดีขึ้นหลังจากสัปดาห์ที่ 2 เมื่อเทียบกับเริ่มต้นศึกษา โดยค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตมากกว่า 50 แสดงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่าง 2 กลุ่ม แต่ไม่พบความแตกต่างของคะแนนคุณภาพชีวิตตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการศึกษาที่สัปดาห์ที่ 2 ไม่พบความแตกต่างทางสถิติในปริมาณครีมที่เหลือระหว่าง 2 กลุ่ม รวมถึงจำนวนยาเม็ดบรรเทาปวดที่ถูกใช้
สรุป: ครีมไพลมีประสิทธิภาพในการช่วยลดความปวดของอาการกล้ามเนื้อเคล็ด ขัด ยอก ไม่แตกต่างจากยาหลอกในช่วงการวัด 2 สัปดาห์ แต่พบว่ามีแนวโน้มการลดลงของความปวดต่อเนื่องและเป็นการรักษาที่ไม่มีผลข้างเคียงจึงสามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2559, February
ปีที่: 99 ฉบับที่ 2 Suppl 2 หน้า S147-S152
คำสำคัญ
Zingiber cassumunar Roxb, Plai cream, Muscle strain