การศึกษาเปรียบเทียบผลของการรักษาโรคจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกอักเสบโดยใช้วิธี เลาะจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกผ่านทางผิวหนัง เทียบกับวิธีฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์
เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ, ยิ่งยง ต่ออุดม*Department of Orthopaedics, Faculty of Medicine, Srinakarinwirot university, Ongkarak, Nakonnayok 26120, Thailand; E-mail: torudom@hotmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์
เพื่อเปรียบเทียบระดับความเจ็บปวดและกำลังในการบีบมือที่ดีขึ้นหลังจากการรักษาด้วยวิธี เลาะจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกผ่านทางผิวหนัง เทียบกับวิธีฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ ในโรคจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกอักเสบ
วิธีการศึกษา
ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกอักเสบ จำนวน 49 ราย ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 (กลุ่มทดลอง) คือกลุ่มที่ได้รับการรักษาโดยการเลาะจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกผ่านทางผิวหนัง กลุ่มที่ 2 (กลุ่มควบคุม) คือกลุ่มที่รักษาโดยการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ตำแหน่งจุดเกาะของกล้ามเนื้อ extensor carpi radialis brevis หลังจากนั้น นัดหมายผู้ป่วยเพื่อประเมินผลการรักษาที่ 2 สัปดาห์ และ 1,2,3,6 เดือนตามลำดับ โดยใช้แผนภูมิ “visual analog scale” (VAS) เพื่อบอกระดับความเจ็บปวดของผู้ป่วยออกมาเป็นตัวเลข และทดสอบกำลังในการบีบมือ โดยเครื่องวัดกำลังการบีบมือที่แสดงผลเป็นตัวเลข (หน่วยเป็นกิโลกรัม) และวิเคราะห์ผลทางสถิติ
ผลการศึกษา
ผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 49 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการรักษาโดยการเลาะจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกผ่านทางผิวหนัง 25 ราย และกลุ่มที่รักษาโดยการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ 24 ราย พบว่าระดับความเจ็บปวดที่ลดลงและกำลังในการบีบมือที่ดีขึ้นในกลุ่มที่รักษาโดยการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ 2 สัปดาห์ และ 1 เดือนดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาโดยการเลาะจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกผ่านทางผิวหนัง แต่หลังจาก 2 เดือน ผลการรักษาไม่แตกต่างกัน
สรุป
การรักษาโรคจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกอักเสบโดยวิธีการเลาะจุดเกาะเอ็นที่ข้อศอกด้านนอกผ่านทางผิวหนังให้ผลการรักษาเทียบเท่ากับการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ซึ่งเป็นการรักษาตามมาตรฐาน หลังจากการรักษา 2 เดือน
ที่มา
วารสารราชวิทยาลัยแพทย์ออโธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ปี 2557, January-April
ปีที่: 38 ฉบับที่ 1-2 หน้า 9-15
คำสำคัญ
pain, Lateral epicondylitis, Tennis elbow disease, percutaneous needle release, tenotomy, grip strength