การเปรียบเทียบผลการฝึกด้วยยางยืดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความอดทนที่มีต่อช่วงการเคลื่อนไหวข้อไหล่ในผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะข้อไหล่ติดแข็ง
ปิยภรณ์ รุ่งโสภาสกุล*, เจริญ กระบวนรัตน์, ราตรี เรืองไทย
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อ.เมืองกำแพงแสน จ.นครปฐม 73140
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและหาค่าความแตกต่างผลของการฝึกด้วยยางยืดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความอดทนที่มีต่อช่วงการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะข้อไหล่ติดแข็ง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเพศหญิงที่มีภาวะข้อไหล่ติดแข็ง มารับการรักษาทางกายภาพบำบัด ที่งานกายภาพบำบัด กองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลทหารผ่านศึก จังหวัดกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 40 - 60 ปี จำนวน 80 คน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบอาสาสมัคร จำนวน 30 คน แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย คือ กลุ่มควบคุม ให้วางความร้อนตื้นชื้นเป็นเวลา 20 นาที และให้การดัดดึงข้อต่อ 20 นาที กลุ่มทดลองที่ 1 ให้วางความร้อนตื้นชื้นเป็นเวลา 20 นาที และให้การดัดดึงข้อต่อ 20 นาที จากนั้นให้โปรแกรมการฝึกด้วยยางยืดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และกลุ่มทดลองที่ 2 ให้วางความร้อนตื้นชื้นเป็นเวลา 20 นาที และให้การดัดดึงข้อต่อ 20 นาที จากนั้นให้โปรแกรมการฝึกด้วยยางยืดเพื่อเพิ่มความอดทน แต่ละกลุ่มใช้ระยะเวลาในการทดลอง 6 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยทำการวัดมุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ของกลุ่มทดลองทั้ง 3 กลุ่ม ก่อนการทดลองและภายหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 6 นำผลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยวิธีของ Tukey ซึ่งกำหนดความนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
                ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มควบคุม กลุ่มที่ฝึกด้วยยางยืดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และกลุ่มที่ฝึกด้วยยางยืดเพื่อเพิ่มความอดทน มีการเพิ่มขึ้นของช่วงการเคลื่อนไหวข้อไหล่ในท่ายกแขน ท่ากางแขน ท่าหมุนแขนออกและท่าหมุนแขนเข้าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยกลุ่มที่ฝึกด้วยยางยืดเพื่อเพิ่มความอดทนมีแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของช่วงการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ได้ดีกว่ากลุ่มที่ฝึกด้วยยางยืดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและกลุ่มควบคุมตามลำดับ ดังนั้นเราสามารถนำโปรแกรมการฝึกทั้งสองโปรแกรมไปใช้เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวข้อไหล่ ในผู้ป่วยที่มีภาวะข้อไหล่ติดแข็งภายหลังจากทำกายภาพบำบัดได้
 
ที่มา
๋Journal of Sports Science and Health ปี 2557, December ปีที่: 14 ฉบับที่ 2 หน้า 129-141
คำสำคัญ
Range of motion, Frozen shoulder, resistance training, female patient, rubber chain, active range of motion, passive range of motion, ข้อไหล่ติดแข็ง, การฝึกด้วยแรงต้าน, ช่วงการเคลื่อนไหวของข้อไหล่, ผู้ป่วยหญิง, ยางยืด, การเคลื่อนไหวแบบผู้ป่วยกระทาเอง, การเคลื่อนไหวแบบผู้อื่นกระทาให้