การเตรียมเลือดสำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังกรณีไม่เร่งด่วน: สัดส่วนการใช้จริงค่าใช้จ่ายและความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร
สุเจตนา ภูมิสวาสดิ์, มลธิรา จิตจักร, วราภรณ์ เชื้ออินทร์, อุ้มจิต วิทยาไพโรจน์*, เกรียงไกร วิทยาไพโรจน์Department of anesthesiology, Faculty of Medicine, Khon Kaen University, Khon Kaen 40002, Thailand; E-mail: aumjit69@yahoo.com
บทคัดย่อ
บทนำ: การเตรียมเลือดสำหรับการผ่าตัดในปริมาณที่เหมาะสมมีความสำคัญ เพราะสามารถลดค่าใช้จ่าย และภาระงานของบุคคลกรที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการเตรียมเลือดได้ จากรายงาน 12 เดือน (พ.ค. 2554-เม.ย. 2555) ของหน่วยคลังเลือดกลาง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบอัตราการเตรียมเลือดต่ออัตราการใช้เลือด สูงกว่าค่ามาตรฐาน มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเตรียมเลือดแต่ไม่ได้ใช้เป็นเงิน 6,152,274 บาท เกิดการสูญเสีย ทรัพยากรและเพิ่มภาระงานบุคลากรคลังเลือดในขั้นตอนการเตรียมเลือด วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินความ คุ้มค่าและหาปริมาณการเตรียมเลือดที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังกรณีไม่เร่งด่วนของโรงพยาบาล ศรีนครินทร์
วิธีการศึกษา: การศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลังเก็บข้อมูลการเตรียมเลือดและใช้เลือดจริง ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังกรณีไม่เร่งด่วน ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2554 โดยนำข้อมูลการเตรียมเลือดและการใช้เลือดจริงในระหว่างผ่าตัดจนถึงหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง มาคำนวณหาค่าใช้จ่ายในการเตรียมเลือดและคำนวณดัชนีชี้วัดความคุ้มค่าในการใช้เลือด ซึ่งประกอบด้วย ค่า C/T ratio, Transfusion probability (%T) และ Transfusion index (Ti)
ผลการศึกษา: ในระยะเวลาทำการ ศึกษา มีผู้ป่วยรับการผ่าตัดกระดูกสันหลังกรณีไม่เร่งด่วนจำนวน 231 ราย มีการเตรียมเลือดสำหรับผ่าตัด ในผู้ป่วย 221 ราย (ร้อยละ 95.7) จำนวนทั้งหมด 355 ยูนิต มีการใช้เลือดจริงในผู้ป่วย 33 ราย จำนวน 74 ยูนิต ค่าใช้จ่ายที่ เกิดจากขั้นตอนการเตรียมเลือดทั้งหมด 95,850 บาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเตรียมเลือดที่ใช้จริง 19,980 บาท ค่า C/T ratio เท่ากับ 4.8 ค่า %T และค่า Ti เท่ากับ 14.9, 0.3 ตามลำดับ
สรุป: มีการเตรียมเลือดสำหรับการผ่าตัด กระดูกสันหลังกรณีไม่เร่งด่วนในรพ.ศรีนครินทร์มากเกินความจำเป็น ในการผ่าตัดใหญ่ที่มีโอกาสเสียเลือดมาก และคาดว่าจะต้องได้รับเลือดมากกว่า 2 ยูนิตขึ้นไป เช่น laminectomy with posterior instrumentation และ spine tumor ควรใช้วิธี cross matching ในการเตรียมเลือด ส่วนการผ่าตัดกระดูกสันหลังอื่นๆ เช่น laminectomy, c-spine decompression, spine biopsyและ discectomy ที่มีโอกาสได้รับเลือดน้อย แนะนำให้เตรียมเลือดด้วยวิธี type and screen จะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากขั้นตอนการเตรียมเลือด ลดภาระงานของบุคลากรและสามารถเพิ่ม ประสิทธิภาพการใช้เลือดได้
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2558, July-September
ปีที่: 41 ฉบับที่ 3 หน้า 155-166
คำสำคัญ
preoperative blood preparing, elective spine surgery, การเตรียมเลือดเพื่อการผ่าตัด, การผ่าตัดกระดูกสันหลังกรณีไม่เร่งด่วน