ผลของการเสริมสร้างพลังอำนาจร่วมกับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในสตรีระยะคลอดต่อภาวะจิตใจ พฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดและผลลัพธ์ของการคลอด
ชญานิน บุญพงษ์มณี*, เยาวเรศ สมทรัพย์, โสเพ็ญ ชูนวล
Tri-Cities Endoscopy Center, 7114 West Hood Place, Kennewick, WA. 99336. USA
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบการรับรู้ความสามารถของตนเอง ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองความวิตกกังวล การรับรู้ความเจ็บปวด ความพึงพอใจในประสบการณ์การคลอด พฤติ กรรมการเผชิญความเจ็บปวดในระยะคลอดและผลลัพธ์ของการคลอดของกลุ่มสตรีระยะคลอดที่ได้รับการเสริมสร้างพลังอำนาจร่วมกับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มสตรีระยะคลอดที่ได้รับการดูแลตามปกติจากเจ้าหน้าที่ และ 2) เปรียบเทียบการรับรู้ความสามารถของตนเอง ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ความวิตกกังวลของสตรีระยะคลอดในกลุ่มทดลองก่อนและหลังได้รับการเสริมสร้างพลังอำนาจร่วมกับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงครรภ์แรกที่มารับบริการ ณ หน่วยห้องคลอด โรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งในภาคใต้ จำนวน 95 ราย และสุ่มตัวอย่างด้วยเทคนิคมินิไมเซชั่น เข้ากลุ่มทดลอง 49 ราย กลุ่มควบคุม 46 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์ และสังเกตผลการศึกษาพบว่าหลังทดลอง สตรีระยะคลอดกลุ่มทดลอง มีการรับรู้ความสามารถของตนเองเพิ่มขึ้น มีความพึงพอใจในประสบการณ์การคลอดสูงกว่า และมีพฤติกรรมการเผชิญความเจ็บปวดในระยะคลอดดีกว่าสตรีระยะคลอดกลุ่มควบคุม อีกทั้งมีระดับความวิตกกังวลและการรับรู ้ความเจ็บปวดลดลงกว่ากลุ่มควบคุม ส่วนความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ระยะเวลาของการคลอด และค่าคะแนนแอพการ์ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังทดลองในสตรีระยะคลอดกลุ่มทดลองผล พบการรับรู้ความสามารถของตนเองเพิ่มขึ้น ความวิตกกังวลลดลง ส่วนความมีคุณค่าในตนเองนั้นไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติผลการศึกษาครั้งนี้เป็นแนวทางสำหรับพยาบาลผู้ปฏิบัติงานที่หน่วยห้องคลอดในการนำโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจร่วมกับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องใช้ในการให้การพยาบาลแก่สตรีระยะคลอด เพื่อส่งเสริมให้สตรีเหล่านั้นสามารถเผชิญกับความเจ็บปวดได้อย่างเหมาะสม มีการรับรู้ความสามารถตนเองดีขึ้น มีความวิตกกังวลลดลง ตลอดจนมีความพึงพอใจในประสบการณ์การคลอดมากขึ้น 
ที่มา
สงขลานครินทร์เวชสาร ปี 2548, มกราคม-กุมภาพันธ์ ปีที่: 23 ฉบับที่ 1 หน้า 37-47
คำสำคัญ
birth outcomes, continuous support, coping pain behavior, empowerment, labor pain, psychological factors, การเจ็บครรภ์คลอด, การเสริมสร้างพลังอำนาจ, ผลลัพธ์ของการคลอด, พฤติกรรมเผชิญความเจ็บปวด, ภาวะจิตใจ, แรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง