ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิดเอ (Botox®) ครั้งเดียวเพื่อการลดปวดmyofascial trigger point กล้ามเนื้อ upper trapezius: การศึกษาแบบสุ่ม ปกปิดสองทาง และมีกลุ่มควบคุม
พศวีร์ ขวัญช่วย*, ธวัชชัย เพ็ชรน้ำสิน, พิเชษฐ์ เยี่ยมศิริ, นัคมน ผาสุก, วรรณรัตน์ ศรีกนก, ชนศักดิ์ หทัยอารีย์รักษ์
Department of Physical Medicine and Rehabilitation, Pramongkutklao Hospital and College of Medicine, Bangkok 10400, Thailand; Phone: +66-2-3547731; E-mail: kwanchuay@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: การฉีดโบทูลินั่มท็อกซินได้ถูกใช้เพื่อการลดความปวดในกลุ่มอาการปวดเรื้อรังหลากหลายสาเหตุ เมื่อไม่นานมานี้การศึกษาแบบทบทวนอย่างเป็นระบบได้รายงานผลที่ยังสรุปไม่ได้ชัดเจนถึงผลของ โบทูลินั่มท็อกซิน ในการรักษา myofascial pain การศึกษาที่นำเสนอนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิดเอ (โบท็อกซ) เพื่อรักษาจุดปวด myofascial trigger point ที่กล้ามเนื้อ upper trapezius
วัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วย 33 ราย ที่มีจุดปวด myofascial trigger point ที่กล้ามเนื้อ upper trapezius มานานกว่า 3 เดือน ซึ่งมีความรุนแรงระดับปานกลางถึงมาก ที่เข้ารับการตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ถึง มีนาคม พ.ศ. 2555 ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ทั้งหมดจะถูกปกปิดจากวิธีการรักษาและถูกสุ่มเป็น 2 กลุ่มโดย 24 จุดปวด ที่อยู่ในกลุ่มทดลองจะได้รับการฉีดโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิดเอ (โบท็อกซ์) ที่จุดที่เจ็บที่สุดในกล้ามเนื้อ upper trapezius 1 จุด ในปริมาณ 0.2 มล. (20 ยูนิต) และอีก 24 จุดปวด จะอยู่ในกลุ่มควบคุมซึ่งได้รับการฉีดนํ้าเกลือในปริมาณ 0.2 มล. ที่ตำแหน่ง เดียวกันกับกลุ่ม ทดลอง ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการการยืดกล้ามเนื้อและการปรับเปลี่ยนท่าทางให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ โดยตลอดการศึกษา การประเมินผลการรักษาจะใช้การติดตามผลจากระดับความปวด visual analog scale (VAS) และ ค่าpressure pain threshold (PPT) และการรายงานผลข้างเคียง ที่ระยะเวลา 3 และ 6 สัปดาห์ หลังการฉีดยา
ผลการศึกษา: กลุ่มฉีดโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิดเอ และกลุ่มควบคุมด้วยการฉีดนํ้าเกลือสามารถลดระดับความปวด VAS และเพิ่มค่า PPT ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังฉีดที่ 3 และ 6 สัปดาห์ สำหรับค่าความแตกต่างของระดับความปวด VAS ที่ลดลง ระหว่างก่อนฉีด และที่ 3 และ 6 สัปดาห์ พบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเปรียบเทียบระหว่าง 2 กลุ่ม (p = 0.786 และ 0.325 ตามลำดับ) แต่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของการเพิ่มขึ้นของค่า PPT จากช่วงเวลาก่อนฉีด และที่ 6 สัปดาห์ หลังการฉีดโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิดเอ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (1.0±0.9 และ 0.5±0.7, p = 0.036) ผลข้างเคียงจากการฉีดนั้นพบเพียงผลข้างเคียงที่มีความรุนแรงน้อยหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ และเปอร์เซ็นต์ของผลข้างเคียงดังกล่าวทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงในกลุ่มโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิดเอเลย
สรุป: ประสิทธิภาพของการฉีดโบทูลินั่มท็อกซิน ชนิดเอ (โบท็อกซ์) ขนาด 20 ยูนิต ครั้งเดียวที่จุดที่เจ็บที่สุดของ myofascial trigger point ที่กล้ามเนื้อ upper trapezius ในการลดอาการปวดโดยวัดจากค่า VAS ไม่แตกต่างจากการฉีดด้วยนํ้าเกลือ แต่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มค่า PPT ได้มากกว่าที่ 6 สัปดาห์ หลังฉีดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2558, December ปีที่: 98 ฉบับที่ 12 หน้า 1231-1236
คำสำคัญ
Myofascial trigger point, Botulinum toxin, Upper trapezius muscle