ผลของวิตามินดีต่อภาวะอ้วนลงพุงในประชากรไทยที่มีสภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
หทัยกาญจน์ นิมิตพงษ์*, ีรัตนพรรณ สมิทธารักษ์, สุนีย์ แซ่ตั้ง, ณัฐพิมณฑ์ ภิรมย์เมือง, ละออ ชัยลือกิจ, บุญส่ง องค์พิพัฒนกุลDivision of Endocrinology and Metabolism, Department of Medicine, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University, Rama 6 Road, Rajthevi, Bangkok 10400, Thailand; Phone: +66-2-2011622, Fax: +66-2-2011647; E-mail: hataikarnn@hotmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการให้วิตามินดีเป็นเวลา 3 เดือน ต่อสัดส่วนของร่างกายและระดับนํ้าตาลของผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน [impaired fasting glucose (IFG) และ/หรือ impaired glucose tolerance]
วัสดุและวิธีการ: ผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาที่มีภาวะ IFG และ/หรือ IGT จำนวน 47 ราย ถูกสุ่มแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (จำนวน 18 ราย) ได้รับวิตามินดีสองขนาด 20,000 ยูนิตต่อสัปดาห์ (จำนวน 19 ราย) หรือได้รับวิตามินดีสามขนาด 15,000 ยูนิตต่อสัปดาห์ (จำนวน 10 ราย) มีการวัดสัดส่วนของร่างกายที่ 0 และ 3 เดือน และตรวจความทนต่อกลูโคส (75 g oral glucose tolerance test) ที่ 0 และ 3 เดือน ระดับของ total 25(OH)D, 25(OH)D3 และ 25(OH)D2 วัดด้วยวิธี LC-MS/MS ความดื้อต่ออินซูลิน (HOMA-IR) และความสามารถในการหลั่งอินซูลิน (HOMA%B) คำนวณด้วยวิธี homeostasis model assessment
ผลการศึกษา: ระดับ total 25 (OH)D เพิ่มขึ้นจากค่าตั้งต้นในผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาที่ได้รับวิตามินดีสองหรือวิตามินดีสาม และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าดังกล่าวในกลุ่มควบคุม (ไม่ได้รับวิตามินดี) ผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาที่ได้รับวิตามินดีสาม มีระดับ 25 (OH)D3 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (+13.7±4.9 ng/mL, p<0.01) ในขณะที่ผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาที่ได้รับวิตามินดีสองมีระดับ 25 (OH)D2 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (+25.9±4.2 ng/mL, p<0.001) ร่วมกับมีระดับ 25 (OH)D3 ลดลงด้วย (-13.1±3.1 ng/mL,
p<0.001) ผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาถูกแบ่งกลุ่มใหม่เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม (จำนวน 18 ราย) หรือ กลุ่มที่ได้รับวิตามินดี (วิตามินดีสองหรือวิตามินดีสาม จำนวน 29 ราย) เมื่อครบ 3 เดือน พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาที่ได้รับวิตามินดีมีเส้นรอบเอวลดลงจากค่าตั้งต้น นอกจากนี้ นํ้าหนักตัว (p = 0.05) ความดันตัวบน (systolic blood pressure, p = 0.05) ดัชนีมวลกาย (p = 0.06) และค่าความดื้อต่ออินซูลิน (p = 0.09) มีแนวโน้มลดลงด้วย ผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาที่ได้รับวิตามินดีและมีการเพิ่มขึ้นของ total 25 (OH)D levels ≥10 ng/mL มีภาวะดื้ออินซูลินลดลงและการหลั่งอินซูลินดีขึ้น การวิเคราะห์ทางสถิติด้วยวิธี robust regression analysis พบว่าการได้รับวิตามินดีสามส่งผลลดเส้นรอบเอวได้มากกว่าการได้รับวิตามินดีสอง (coefficient = -3.5, p<0.001) โดยไม่ขึ้นกับระดับ total 25(OH)D ที่จุดตั้งต้นและค่าดัชนีมวลกาย อย่างไรก็ตามเมื่อทำการเปรียบเทียบระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาที่ได้รับวิตามินดีสามและวิตามินดีสอง พบว่าการเปลี่ยนแปลงของดัชนีชี้วัดของภาวะอ้วนลงพุงตัวอื่นไม่มีความแตกต่างกัน
สรุป: การให้วิตามินดีสองขนาด 20,000 ยูนิตต่อสัปดาห์ หรือ วิตามินดีสามขนาด 15,000 ยูนิตต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน ส่งผลให้ metabolic phenotypes ในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานดีขึ้น และการได้รับวิตามินดีสามอาจส่งผลลดเส้นรอบเอวได้มากกว่าการได้รับวิตามินดีสอง
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2558, December
ปีที่: 98 ฉบับที่ 12 หน้า 1169-1178
คำสำคัญ
prediabetes, metabolic parameters, Vitamin D, Vitamin D2, Vitamin D3, 25(OH)D