การเปรียบเทียบการเข้าเต้าของทารกที่ป้อนนมโดยใช้อุปกรณ์ช่วยให้นมที่ทำจากสายยางต่อหลอดฉีดยากับป้อนนมด้วยถ้วย
ภาวิน พัวพรพงษ์*, เกษม เรืองรองมรกต, อรสา เหมะจันทร, สุขวดี เกษสุวรรณ, ศิณัฐชานันท์ วงษ์อินทร์Department of Obstetrics & Gynecology, Faculty of Medicine, Srinakharinwirot University, 62 Moo 7, Ongkharak, Nakhon Nayok 26120, Thailand; Phone: +66-37-395085, Fax: +66-37-395087; E-mail: pawinppp@yahoo.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: ศึกษาเปรียบเทียบการเข้าเต้าของทารกที่ป้อนนมโดยใช้อุปกรณ์ช่วยให้นมที่ทำจากสายยางต่อหลอดฉีดยากับป้อนนมด้วยถ้วย
วัสดุและวิธีการ: ศึกษาในมารดาและทารกหลังคลอดที่คลอดปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 จำนวนทั้งสิ้น 120 ราย ที่ตรวจไม่พบว่ามีน้ำนมในวันที่สองหลังคลอด แบ่งกลุ่มศึกษาเป็นสองกลุ่มๆ ละ 60 ราย โดยการสุ่มอย่างง่าย กลุ่มแรกป้อนนมโดยใช้อุปกรณ์ช่วยให้นมที่ทำจากสายยางต่อหลอดฉีดยา กลุ่มที่สองป้อนนมด้วยถ้วย จากนั้นประเมินการเข้าเต้าโดยใช้ Latch score ในวันที่สามหลังคลอด รวบรวมข้อมูลพื้นฐานของมารดาและทารก ได้แก่ อายุ ลำดับครรภ์ อายุครรภ์ อาชีพ วิธีการคลอด การเสียเลือดหลังคลอด ดัชนีมวลกาย ความยาวหัวนม น้ำหนักทารก ภาวะลิ้นติด และคะแนนการเข้าเต้าเพื่อวิเคราะห์ผล
ผลการศึกษา: จากการศึกษาพบข้อมูลพื้นฐานของมารดาและทารกในทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน คะแนนการเข้าเต้าในกลุ่มทารกที่ป้อนนมโดยใช้อุปกรณ์ช่วยให้นมที่ทำจากสายยางต่อหลอดฉีดยามากกว่ากลุ่มทารกที่ป้อนนมด้วยถ้วยอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05)
สรุป: การเข้าเต้าของทารกหลังการใช้อุปกรณ์ช่วยให้นมที่ทำจากสายยางต่อหลอดฉีดยาดีกว่าหลังการใช้การป้อนนมด้วยถ้วย
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2558, October
ปีที่: 98 ฉบับที่ 10 (Suppl 9) หน้า S61-S65
คำสำคัญ
cup feeding, latch score, Feeding tube