การหายใจออกด้วยแรงดันบวกเพิ่มการฟื้นตัวของอาการหอบเหนื่อยในผู้ป่วย COPD
ขจรศักดิ์ พงษ์พานิช, ชุลี โจนส์*, เดวิด โจนส์, วัชรา บุญสวัสดิ์
School of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences, Khon Kaen University, Khon Kaen 40002. Email: joneschulee@gmail.com
บทคัดย่อ
อาการหอบเหนื่อยเป็นปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวหลังออกกำ ลังกายในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้น เรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease: COPD) ล่าช้า ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการหายใจออกผ่านอุปกรณ์ก่อแรงดันบวกต่อการฟื้นตัวของอาการหอบเหนื่อยในผู้ป่วย COPD ที่มีระดับความรุนแรงระดับปานกลางถึงมากโดยพิจารณาจากค่า FEV1 ตามเกณฑ์ของ GOLD guideline ทำการศึกษาแบบ Randomized cross-over trial ในผู้ป่วย COPD เพศชาย 12 คน อายุเฉลี่ย 58.9±6.7 ปี ให้อาสาสมัครออกกำลังกายด้วย spot brisk marching และหยุดเมื่อมีอาการหอบเหนื่อยระดับปานกลาง-มาก ปวดล้าขามาก หน้ามืดหรือเวียนศีรษะ ทันทีที่หยุดออกกำลังกายให้ผู้ป่วยนั่งพักและหายใจออกทางปากผ่านอุปกรณ์ก่อแรงดันบวกใน 2 ภาวะ คือ ภาวะทดลองและภาวะหลอก ซึ่งมีน้ำเป็นแรงต้าน 5 และ 0 เซนติเมตรน้ำตามลำดับ เป็นจำนวน 6 ครั้ง ประเมินระดับอาการหอบเหนื่อย อัตราการหายใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจน และแรงดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกในระยะพักก่อนออกกำลังกาย ทุกหนึ่งนาทีในขณะออกกำลังกายและในระยะฟื้นตัวหลังออกกำลังกายต่อเนื่อง 10 นาที โดยมีช่วงพักระหว่างภาวะการทดลอง 3 ชั่วโมง ผลการศึกษาพบว่า อัตราการฟื้นตัวของอาการหอบเหนื่อยในภาวะทดลองเร็วกว่าภาวะหลอกสองเท่า (1.31±0.36 เทียบกับ 0.70±0.09 หน่วย/นาที p < 0.001) ระยะเวลาฟื้นตัวจากอาการหอบเหนื่อยในภาวะทดลองคือ 3 นาทีและ 5 นาทีในภาวะหลอก โดยที่การทำงานของระบบหายใจดังกล่าวไม่ต่างกัน ยกเว้นอัตราการหายใจในระยะฟื้นตัวหลังออกกำลังกายที่ลดลงมากกว่าในภาวะทดลองเมื่อเทียบกับภาวะหลอก (p < 0.05) จึงสรุปได้ว่าการหายใจออกด้วยแรงดันบวก อย่างน้อย 5 เซนติเมตรน้ำ ช่วยเร่งอัตราและลดระยะเวลาฟื้นตัวของอาการหอบเหนื่อยหลังออกกำลังกายในผู้ป่วย COPD
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2558, January-April ปีที่: 37 ฉบับที่ 1 หน้า 41-53
คำสำคัญ
Chronic obstructive pulmonary disease, Exercise, Dyspnea, Positive expiratory pressure, recovery