บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความปวดกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง และประเมินระดับการเปลี่ยนแปลงความปวดที่ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยรูปแบบการวิจัย: การศึกษาแบบ cohort ร่วมกันระหว่างสหสถาบันวัสดุและวิธีการ: ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการปวดในโรงเรียนแพทย์ 7 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์อีก 3 แห่งในประเทศไทย ระดับอาการปวดของผู้ป่วยประเมินด้วยเครื่องมือ Brief Pain Inventory ส่วนคุณภาพชีวิตประเมินด้วยเครื่องมือ FACT-G การประเมินความปวดและคุณภาพชีวิตทำครั้งแรกเมื่อเริ่มการศึกษาและทำการประเมินซ้ำอีกใน2 สัปดาห์ต่อมาผลการศึกษา: มีผู้ป่วยที่ร่วมในการศึกษาทั้งหมด 520 ราย (อายุเฉลี่ย 52 ปี) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (76%) มีอาการปวดตามร่างกาย 2 แห่ง และร้อยละ 80 ของผู้ป่วยได้รับการรักษาอาการปวดตามบันไดขั้นที่ 2 หรือที่ 3 ของแนวทางการระงับปวดของ WHO การประเมินที่เวลา 2 สัปดาห์ต่อมาพบว่า ระดับความปวดสูงสุดลดลงจาก 6.6 เป็น 4.8 (mean difference = -1.8, p < 0.001) และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจาก 58.6 เป็น 61.0 (mean difference = 2.4, p < 0.001) โดยที่ระดับความปวดสูงสุดที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (rs = -0.42, p < 0.001) ทั้งนี้ พบว่าค่าคะแนนความปวดที่เปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 คะแนน (3 ใน 10 คะแนน) จะส่งผลทำให้ค่าคะแนนของ FACTG มีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่เริ่มบ่งบอกได้ว่าส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมี นัยสำคัญทางคลินิกโดยอาการปวดที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อการเปลี่ยนคุณภาพชีวิตมากกว่าอาการปวดที่ลดลง คืออาการปวดเพิ่มขึ้น 3 คะแนน ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง 10.3 คะแนน ในขณะที่อาการปวดลดลง 3 คะแนนทำให้คุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น 7.6 คะแนนสรุป: การวิจัยนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของการระงับปวด โดยระดับความปวดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างน้อย 3 คะแนน (จาก 10 คะแนน) จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญทั้งทางสถิติและทางคลินิก
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2549, August ปีที่: 89 ฉบับที่ 8 หน้า 1120-1126
คำสำคัญ
Quality of life, pain, Cancer