การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาแอคเน่โลชั่นร่วมกับ 2.5%เบนโซอิลเพอรอกไซด์ เทียบกับแอคเน่โลชั่นร่วมกับ 2%อิริโทรมัยซิน โซลูชั่น ในการรักษาสิวที่หลังระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง
ศิรินี วิภวกุล*, โกวิท คัมภีรภาพ, สุทธิรัตน์ เรืองชัยนาม, บุษยมาศ น้ำกลั่น, ประกายดาว ไชยช่อฟ้า
สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
บทคัดย่อ
ความสำคัญและที่มาของการวิจัย: สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมาก สิวที่ลำตัวพบอุบัติการณ์มากถึง 50-61% ของผู้ป่วยที่เป็นสิว ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ อาจจะนำไปสู่การอักเสบและเกิดรอยแผลเป็นที่หลังได้ ยาแอคเน่โลชั่น สูตรสถาบันโรคผิวหนังเป็นยาที่นำมาใช้รักษาสิวที่หลังอย่างแพร่หลายมาหลายปี แต่ยังไม่เคยมีใครทำการศึกษามาก่อน การใช้ยารักษาสิวที่มีกลไกการออกฤทธิ์ต่างกันอาจจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาสิวมากขึ้น
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาสิวที่หลังความรุนแรงน้อยถึงปานกลางด้วยแอคเน่โลชั่นร่วมกับยาทาเบนโซอิลเพอรอกไซด์2.5% เทียบกับแอคเน่โลชั่นร่วมกับยาทา 2% อีริโทรมัยซิน โซลูชั่น
วิธีการวิจัย: ผู้ป่วยที่มีสิวที่หลังความรุนแรงน้อยถึงปานกลางตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป และได้รับการคัดกรองว่าไม่เป็น Pityrosporum folliculitis จำนวน 63 รายจากคลินิกผู้ป่วยนอก สถาบันโรคผิวหนังที่เข้าร่วมโครงการ จะถูกบันทึกข้อมูลพื้นฐาน ลักษณะทางคลินิก ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดสิวที่หลังและกดสิวเพื่อตรวจหาอุบัติการณ์เชื้อ Propionibacterium acnes หลังจากนั้นจะได้รับการสุ่มเพื่อได้รับยาแอคเน่โลชั่นร่วมกับยาทาเบนโซอิลเพอรอกไซด์2.5% หรือได้ยากลุ่มแอคเน่โลชั่น ร่วมกับ2% อีริโทรมัยซิน โซลูชั่น ทายาวันละ 2 ครั้งเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ประเมินความรุนแรงของสิวโดยการนับจำนวนเม็ดสิว ก่อนเริ่มการรักษา และสัปดาห์ที่ 4, 8 และ 12 ประเมินผลข้างเคียงของยา ผู้ป่วยประเมินความพึงพอใจในผลการรักษา ผลข้างเคียงของยา และความสะดวกสบายในการทายา
ผลการศึกษา: ยาทั้งสองกลุ่มมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนสิวที่หลัง แต่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P > 0.05) ยาในกลุ่มแอคเน่โลชั่นร่วมกับ 2% อีริโทรมัยซิน โซลูชั่น มีแนวโน้มสามารถลดจำนวนสิวชนิดเป็นหนองลงได้มากกว่ากลุ่มแอคเน่โลชั่นร่วมกับ 2.5% เบนโซอิลเพอรอกไซด์ แต่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P > 0.05) พบผลข้างเคียงอย่างน้อยหนึ่งอย่างในผู้ป่วยกลุ่มแรก 59.4% และกลุ่มสอง 61.3% ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง มีผู้ป่วยเพียง 1 คนในแต่ละกลุ่มเท่านั้นที่ขอหยุดการเข้าร่วมการศึกษาเนื่องจากทนผลข้างเคียงจากยาไม่ได้ ผลข้างเคียงที่พบทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P > 0.05) ความพึงพอใจในการรักษา ผลข้างเคียงของยา และความสะดวกสบายในการทายาของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P > 0.05)
สรุป: ยาแอคเน่โลชั่นร่วมกับ 2.5% เบนโซอิลเพอรอกไซด์ และแอคเน่โลชั่นร่วมกับ 2%อีริโทรมัยซิน โซลูชั่น เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสิวที่หลัง แต่ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงไม่แตกต่างกันในการรักษาสิวที่หลังที่มีระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง
 
ที่มา
วารสารโรคผิวหนัง ปี 2558, ปีที่: 31 ฉบับที่ 3 หน้า 145-157
คำสำคัญ
back acne, truncal acne, acne lotion, 2.5% benzoyl peroxide, 2% erythromycin solution, สิวที่หลัง, สิวบริเวณลำตัว, แอคเน่โลชั่น,  ยาทาเบนโซอิลเพอรอกไซด์2.5%,  ยาทา 2% อีริโทรมัยซินโซลูชั่น