คุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับรังสีรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี
วิชาฎา อยู่ดวง*, ยุวดี วิทยพันธ์, พิมลลักษณ์ ดำเนียร, อัญญารัตน์ มุสิกกะ, วิวัฒน์ หาญกล้า, สุนีย์ ละกำปั่น
โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี
บทคัดย่อ
                งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้า (prospective study) เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับรังสีรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอในช่วงระยะเวลาก่อนได้รับรังสีรักษา ระหว่างรับการรักษาด้วยรังสีในสัปดาห์ที่ 3 และสัปดาห์สุดท้าย (สัปดาห์ที่ 6) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอทุกรายที่มารับการรักษาในช่วงวันที่ 1 เมษายน 2557- 30 มิถุนายน 2557 ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์คือ เป็นผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอรายใหม่ ได้รับรังสีแบบ curative มีระยะเวลาการฉายแสง 6 สัปดาห์ ได้จำนวนตัวอย่างทั้งหมด 26 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ เครื่องมือที่ใช้คือแบบประเมินคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลก (WHOQOL-BREF) สถิติที่ใช้ได้แก่ สถิติพรรณนา สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ (ANOVA) ผลการศึกษาพบว่าคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางทั้ง 3 ระยะ (คะแนนเฉลี่ย = 91.58, 85.77 และ 83.58 ตามลำดับ) ผลการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตพบว่าคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมหลังได้รับรังสีรักษาในสัปดาห์ที่ 3 และในสัปดาห์ที่ 6 มีคะแนนต่ำกว่าก่อนได้รับรังสีรักษา  P= 0.014  และ 0.035 ตามลำดับ แต่คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตหลังได้รับรังสีรักษาในสัปดาห์ที่ 3 กับสัปดาห์ที่ 6 ไม่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบรายด้านพบว่าคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกายหลังได้รับรังสีรักษาในสัปดาห์ที่ 3 และในสัปดาห์ที่ 6 มีคะแนนต่ำกว่าก่อนได้รับรังสีรักษา P= 0.033 และ 0.007 ตามลำดับ แต่หลังได้รับรังสีรักษาในสัปดาห์ที่ 3 กับสัปดาห์ที่ 6 ไม่แตกต่างกัน ส่วนคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม พบว่าไม่มีความแตกต่างกันทั้ง 3 ระยะ ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนารูปแบบในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่ได้รับรังสีรักษา ทั้งด้านกายพยาบาลและการดูแลตนเองของผู้ป่วย เพื่อลดภาวะข้างเคียงด้านสุขภาพกายและให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
 
 
ที่มา
วารสารโรคมะเร็ง ปี 2558, January-March ปีที่: 35 ฉบับที่ 1 หน้า 14-25
คำสำคัญ
Quality of life, Head and neck cancer, Radiotherapy, คุณภาพชีวิต, รังสีรักษา, คุณภาพชี่วิต, มะเร็งศีรษะและลำคอ