ผลของการบริโภคมะระขี้นกในรูปแบบต่างๆ (น้ำมะระขี้นก ผงมะระขี้นกทำแห้งแบบเยือกแข็งจากน้ำและจากผลมะระขี้นกตากแห้ง) ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลันของระดับน้ำตาล อินสุลินและไขมันในกระแสเลือดหลังอาหารของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง
รุ่งรัตน์ ไชยวัฒนาสราญสุข, ปริย พรรณเชษฐ์, สุรัตน์ โคมินทร์*
หน่วยโภชนาวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์: 02-201-2815
บทคัดย่อ
บทนำ: มะระขี้นกได้ถูกนำมาใช้การรักษาโรคเบาหวานมาเป็นเวลานานแต่งานวิจัยต่างๆ ยังหาข้อสรุปไม่ได้
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลของการกินมะระขี้นกรูปแบบต่างๆ (น้ำมะระขี้นก ผลมะระขี้นกทำแห้งแบบเยือกแข็งจากน้ำ และจากผลมะระขี้นกตากแห้ง) ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลันของระดับน้ำตาล อินสุลิน และไขมันไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดหลังอาหารของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง
วิธีการวิจัย: การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบไขว้ โดยการสุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เข้าร่วมโครงการ 12 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีการควบคุมอาหารทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับยาลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพื่อเปรียบเทียบผลของการกินมะระขี้นกรูปแบบต่างๆ (น้ำมะระขี้นก ผลมะระขี้นกทำแห้งแบบเยือกแข็งของน้ำ และจากผลมะระขี้นกตากแห้ง) ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลันของระดับน้ำตาล อินซุลิน และไขมันไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดหลังอาหาร ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง ได้ทำการทดสอบดูผลระยะสั้น 4 การทดสอบคือได้รับน้ำมะระขี้นกคั้นสด, ได้รับผงมะระขี้นกทำแห้งแบบเยือกแข็งจากน้ำมะระ และได้รับมะระขี้นกจากผลตากแห้ง ก่อนได้รับอาหารมาตรฐานที่มีพลังงาน 400 kcal และการทดสอบที่ไม่ได้รับมะระขี้นก โดยมีระยะพักระหว่างแต่ละชนิดการทดสอบ 1 เดือน มีการเจาะเลือดก่อนได้รับมาตรฐาน (0 นาที) และ 60, 120 และ 204 นาทีหลังอาหาร
ผลการศึกษา: หลังจากได้รับน้ำมะระคั้นสด ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่เวลา 60 และ 120 นาที (155±9 และ  169±12 mg/dl) และพื้นที่ใต้กราฟของระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่า p < 0.037) เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาลระยะควบคุม (194±11 และ 233±13 mg/dl) ในขณะที่ไม่ได้รับน้ำมะระที่ช่วงเวลาเดียวกัน มะระขี้นกทุกรูปแบบมีแนวโน้มลดการเพิ่มขึ้นของระดับอินซุลินหลังอาหารเมื่อเปรียบเทียบกับระยะควบคุมอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ระดับไตรกลีเซอไรด์หลังอาหารเพิ่มขึ้นในระยะควบคุมและหลังบริโภคมะระขี้นกผลิตภัณฑ์อื่น การบริโภคน้ำมะระขี้นกสามารถทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์หลังอาหารไม่เพิ่มขึ้น (107±62 และ 116±65 mg/dl) ในระยะที่ได้รับน้ำมะระขี้นกมีการถ่ายอุจาระประมาณ 1 ครั้ง และมีลมในช่องท้องเกิดขึ้นโดยไม่มีผลข้างเคียงอื่น
สรุปผลการศึกษา: ในระหว่างผลิตภัณฑ์จากมะระขี้นก น้ำมะระขี้นกคั้นสดมีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์หลังอาหารดีที่สุด ไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงตลอดทั้งการศึกษาครั้งนี้
 
ที่มา
รามาธิบดีเวชสาร ปี 2554, October-December ปีที่: 34 ฉบับที่ 4 หน้า 231-239
คำสำคัญ
Diabetes, เบาหวาน, Momordica charantia, Bitter melon, postprandial glucose, triglycerides, มะระขี้นก, น้ำตาลหลังอาหาร, ไตรกลีเซอไรด์หลังอาหาร