ต้นทุนกิจกรรมการพยาบาลผู้ป่วยกระดูกต้นขาหักในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลกำแพงเพชร
สายเดือน ภิบาลทรัพย์*, พันทะนันท์ วงค์แสนสี
กลุ่มงานสวัสดิการสังคมและประกันสุขภาพ โรงพยาบาลกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาต้นทุนกิจกรรมทางการพยาบาลผู้ป่วยกระดูกต้นขาหัก ที่เข้ารักษาตัวในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลกำแพงเพชร
สถานที่ศึกษา: หอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลกำแพงเพชร
รูปแบบการวิจัย: การศึกษาเชิงพรรณนา
กลุ่มตัวอย่าง: ผู้ป่วยกระดูกต้นขาหักที่เข้ารักษาตัวในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก โรงพยาบาลกำแพงเพชร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2556 จำนวน 22 คน
วิธีการศึกษา: การศึกษาใช้กรอบแนวคิดการวิเคราะห์ต้นทุนของแคปแลนและคูเปอร์ ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก และใช้ระบบคิดต้นทุนตามกิจกรรม (activity-based costing: ABC) เครื่องมือที่ใช้ศึกษาประกอบด้วย พจนานุกรมกิจกรรม การพยาบาล แบบบันทึกข้อมูลต้นทุน และแบบบันทึกปริมาณเวลาที่บุคลากรใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาล โดยมีค่าดัชนีความตรงของเนื้อหาเท่ากับ 0.91 และความเที่ยงการสังเกตเท่ากับ 1.00 ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์โดยสถิติพรรณนา
ผลการศึกษา: ต้นทุนต่อหน่วยกิจกรรมการพยาบาลในผู้ป่วยกระดูกต้นขาหัก 1 คนเท่ากับ 572.23 บาท ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมีต้นทุน 711.10 บาท และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดมีต้นทุน 433.35 บาท ต้นทุนที่มีค่าสูงสุดคือ ต้นทุนค่าแรงรองลงมาคือ ต้นทุนค่าลงทุน และต้นทุนค่าวัสดุ เท่ากับ 377.19, 114.09 และ 80.95 บาท ตามลำดับ ต้นทุนกิจกรรม การพยาบาลผู้ป่วยกระดูกต้นขาหักต่อการนอนโรงพยาบาล 1 วันสูงกว่าอัตราค่าบริการพยาบาลทั่วไป ผู้ป่วยในที่กรมบัญชีกลางกำหนดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดและไม่ได้รับการผ่าตัดเท่ากับ 98.36 บาท และ 83.36 บาท
วิจารณ์และสรุป: ต้นทุนค่าแรงในกิจกรรมหลักตามกระบวนการพยาบาลมีต้นทุนสูงสุดในการพยาบาลผู้ป่วยกระดูกดันขาหัก ข้อมูลจากการศึกษาเป็นแนวทางการบริหารจัดสรรทรัพยากรและบุคลากรทางการพยาบาลที่เหมาะสมตามความซับซ้อนของโรค และเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารในการพิจารณาจัดการทรัพยากรโรงพยาบาลในภาพรวมต่อไป
 
ที่มา
สวรรค์ประชารักษ์เวชสาร ปี 2556, May-August ปีที่: 10 ฉบับที่ 2 หน้า 69-81
คำสำคัญ
nursing, ต้นทุน, Unit cost, กระดูกต้นขาหัก, In-patient, ผู้ป่วยใน, femoral fracture, การพยาบาล