ประสิทธิภาพการระงับปวดของยา ketorolac กับ parecoxib ในการลดอาการปวดไหล่หลังการผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง
วนิดา โล้วพฤกษ์มณี
กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการระงับปวดไหล่และการระงับปวดแผลหลังการผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้องของยา ketorolac และยา parecoxib กับกลุ่มควบคุม
สถานที่ศึกษา: โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์
รูปแบบการวิจัย: การศึกษาเชิงทดลองไปข้างหน้า
กลุ่มตัวอย่าง: ผู้ป่วยอายุระหว่าง 18-65 ปี American Society of Anesthesiologists (ASA) physical status I และ II ที่มาผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยวิธีการส่องกล้องแบบไม่ฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ถึง สิงหาคม 2556 จำนวน 63 คน
วิธีการศึกษา: แบ่งผู้ป่วยโดยการสุ่ม เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 21 คน คือ กลุ่มควบคุม กลุ่มที่ได้ยา ketorolac 30 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ได้รับยา parecoxib 40 มิลลิกรัม ฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำหลังการระงับความรู้สึก ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับยาระงับปวด fentanyl 1-2 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักเป็นกิโลกรัมเข้าทางเส้นเลือดดำ และฉีดยาชาที่แผลผ่าตัดด้วย 0.5% bupivacaine 10 มิลลิลิตร เปรียบเทียบคะแนนความปวดที่ไหล่และความปวดที่แผลผ่าตัดที่ห้องพักฟื้น และที่ 2, 4, 6, 12 และ 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ปริมาณยา morphine ที่ต้องการใน 24 ชั่วโมง เวลาครั้งแรกที่ขอยาระงับปวด และผลข้างเคียงของยาระงับปวด
ผลการศึกษา: ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกัน กลุ่มที่ได้รับยา ketorolac และ parecoxib มีคะแนนความปวดไหล่ที่ห้องพักฟื้น และที่ 2, 4, 6 และ 12 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด และมีคะแนนความปวดแผลผ่าตัดที่ห้องพักฟื้น และที่ 2, 4, 6, 12 และ 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับยา ketorolac และ parecoxib มีผู้ป่วยจำนวน 11 ราย (ร้อยละ 52.4) ในกลุ่ม ketorolac และจำนวน 7 ราย (ร้อยละ 33.3) ในกลุ่ม parecoxib ไม่ต้องการยาระงับปวดชนิดฉีดเลยหลังการผ่าตัดและอาการข้างเคียงที่พบบ่อยหลังการผ่าตัด คือ อาการคลื่นไส้อาเจียนและเวียนศีรษะ โดยพบในกลุ่มที่ได้รับยา ketorolac และ parecoxib น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05)
วิจารณ์และสรุป: การให้ยา ketorolac และ parecoxib ทางเส้นเลือดดำ ร่วมกับการฉีดยาชา 0.5% bupivacaine ที่แผลผ่าตัด ให้ผลลดอาการปวดไหล่ภายใน 12 ชั่วโมงแรก และแผลผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยวิธีการส่องกล้องได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และยังลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและเวียนศีรษะอันเป็นผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
 
ที่มา
สวรรค์ประชารักษ์เวชสาร ปี 2556, May-August ปีที่: 10 ฉบับที่ 2 หน้า 55-68
คำสำคัญ
Parecoxib, Laparoscopic cholecystectomy, การผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยวิธีส่องกล้อง, Numeric Rating Score (NRS), Post laparoscopic shoulder pain, Ketorolac, การประเมินคะแนนความปวด, อาการปวดไหล่หลังการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง, ยา ketorolac, ยา parecoxib