ผลของการบริโภคชาอู่หลงต่อระดับไตรกรีเซอไรด์ในเลือดหลังอาหาร: การศึกษาวิจัยแบบสุ่มชนิดปกปิดสองด้านมีกลุ่มควบคุมและสลับกลุ่ม
เอกราช บำรุงพืชน์*, เรวดี จงสุวัฒน์
ภาควิชาโภชนาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
ชาอู่หลง คือ ชาที่ผ่านกระบวนการบ่มแบบกึ่งหมักจากใบชาสด ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลัก ได้แก่ อู่หลงที โพลิเมอไรซ์ โพลีฟีนอล หรือ โอทีพีพี การศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า ชาอู่หลงสามารถลดการดูดซึมไขมันได้โดยยับยั้งเอนไซม์ไลเปส ทำให้เพิ่มการขับไขมันออกทางอุจจาระ การศึกษาวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการดื่มชาอู่หลงต่อระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดหลังอาหาร โดยมีรูปแบบการศึกษาเป็นแบบสุ่มชนิดปกปิดสองด้านมีกลุ่มควบคุมและสลับกลุ่ม (randomized, double-blind, placebo-controlled crossover study) ผู้เข้าร่วมวิจัยถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาอู่หลง จำนวน 15 คน และกลุ่มชาหลอก จำนวน 15 คน โดยผู้เข้าร่วมวิจัยดื่มชาอู่หลง (มีโอทีพีพ 70 มก.) หรือ ชาหลอก (มีโอทีพีพี 0 มก.) ปริมาณ 500 มล. และซุปข้าวโพด (มีปริมาณไขมัน 40 กรัม) ผู้เข้าร่วมวิจัยถูกเก็บตัวอย่างเลือดก่อน-หลังดื่มชาอู่หลงหรือชาหลอก และซุปข้าวโพด ที่เวลา 1, 2, 3, 4, 5 ชม. ผลการศึกษาพบว่า ชาอู่หลงสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดหลังการบริโภคซุปข้าวโพดที่มีไขมันสูงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ใต้กราฟของระดับไตรกลีเซอไรด์ในกลุ่มที่ดื่มชาอู่หลงลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับชาหลอก และไม่พบความแตกต่างของอาการหรือผลข้างเคียงระหว่างกลุ่มที่ดื่มชาอู่หลงและชาหลอก จากการศึกษาครั้งนี้จึงสรุปได้ว่า การดื่มชาอู่หลงที่มีสารโอทีพีพี 70 มก. สามารถยับยั้งการดูดซึมไขมัน ทำให้ระดับไตรกรีเซอไรด์ในเลือดหลังบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงลดลงได้ ดังนั้นการดื่มชาอู่หลงจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้สำหรับป้องกันโรคอ้วน หรือช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ อย่างไรก็ตามเราควรเลือกดื่มชาอู่หลงที่ปราศจากน้ำตาลร่วมกันกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อการควบคุมน้ำหนักตัวได้อย่างถาวร
 
ที่มา
วารสารจักษุสาธารณสุข ปี 2558, January-April ปีที่: 45 ฉบับที่ 1 หน้า 6-17
คำสำคัญ
oolong tea, OTPP, fat absorption, triglyceride, ชาอู่หลง, โอทีพีพี, การดูดซึมไขมัน, ไตรกลีเซอร์ไรด์