การเปรียบเทียบผลการสวดมนต์และการฟังเสียงสวดมนต์ต่อความเครียดและคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
พัสมณฑ์ คุ้มทวีพร*, พุทธวรรณ ชูดเชิด, สุจิตรา สุทธิพงศ์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; E-mail: patsamon.khu@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
การศึกษาเป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการสวดมนต์และการฟังเสียงสวดมนต์ต่อความเครียดและคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่พัก ณ บ้านพักฉุกเฉิน แบ่งแบบสุ่มเป็นกลุ่มสวดมนต์และกลุ่มฟังเสียงสวดมนต์ กลุ่มละ 22 คน ใช้เวลาในการวิจัย 4 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แบบวัดความเครียดสวนปรุง และแบบวัดคุณภาพการนอนหลับของเวอร์แรนและสไนเดอร์ ฮาล์เพิร์น ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค 0.84 และ 0.80 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบสถิติที่เป็นอิสระจากกัน และเป็นไม่อิสระจากกัน โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ < .05 ผลการวิจัยพบว่า 1. ค่าเฉลี่ยความเครียดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มสวดมนต์ลดลงหลังการสวดมนต์ (t = 13.73, p < .05) 2. ค่าเฉลี่ยความเครียดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มฟังเสียงสวดมนต์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 5.59, p < .05) 3. ค่าเฉลี่ยความเครียดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มสวดมนต์ต่ำกว่ากลุ่มฟังเสียงสวดมนต์ (t = 3.13, p < .05) 4. ค่าเฉลี่ยคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มสวดมนต์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 22.54, p <. 05) 5. ค่าเฉลี่ยคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มฟังเสียงสวดมนต์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 11.82, p < .05) 6. ค่าเฉลี่ยคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มสวดมนต์และกลุ่มฟังเสียงสวดมนต์ไม่แตกต่างกัน (t = .28, p = .780) ผลการศึกษาเป็นหลักฐานว่าทั้งการสวดมนต์และการฟังเสียงสวดมนต์ลดความเครียดและเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ คณะผู้วิจัยเสนอแนะว่าในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม พยาบาลควรจัดกิจกรรมการสวดมนต์หรือเปิดเสียงสวดมนต์ให้ฟังเพื่อช่วยลดความเครียดและส่งเสริมการนอนหลับให้แก่ผู้ป่วย
 
ที่มา
วารสารพยาบาลทหารบก ปี 2557, May-August ปีที่: 15 ฉบับที่ 2 หน้า 386-694
คำสำคัญ
Breast cancer, มะเร็งเต้านม, Stress, คุณภาพการนอนหลับ, Quality of sleep, สวดมนต์