ผลของโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมแบบหลายช่องทางต่อการลดภาวะซึมเศร้า
ดาราวรรณ ต๊ะปินตา*, สุพิศ กุลชัย, สมบัติ สกุลพรรณ์, กรรณิการ์ ศรีมงคลธาราธร, สุธาพร บุญยศิวาพงศ์, ผกาทิพย์ สุขจิตร์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; e-mail: darawan1955@gmail.com
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมแบบหลายช่องทางเพื่อลดภาวะซึมเศร้าของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย การคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้าจากการใช้แบบวัด 9 คำถาม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางใช้ค่าคะแนน 7-18 คะแนน อายุ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 36 คน สุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลากเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 18 คน กลุ่มทดลองจะได้รับโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมแบบหลายช่องทางซึ่งเป็นการบำบัดรายบุคคลและมีจำนวนการบำบัดรวม 9 ครั้ง โดยจะนัดผู้ป่วยมาพบที่แผนกผู้ป่วยนอก ในครั้งที่ 1, 2, 3, 6 ส่วนครั้งที่ 4 และครั้งที่ 5 เป็นการบำบัดทางโทรศัพท์ ในครั้งที่ 7, 8, 9 เป็นการบำบัดที่บ้านและการประเมินภาวะซึมเศร้า ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับการดูแลตามบริการปกติของโรงพยาบาล กลุ่มทดลองจะได้รับการประเมินภาวะซึมเศร้าทันทีหลังการสิ้นสุดโปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรม (ใช้เวลาทั้งสิ้น 6 สัปดาห์) ส่วนในกลุ่มควบคุมจะได้รับการประเมินภาวะซึมเศร้า 6 สัปดาห์หลังจากถูกสุ่มเข้ามาเป็นกลุ่มควบคุม และในระยะติดตามผล 2 สัปดาห์หลังจากนั้น
ผลการศึกษาพบว่า 1) คะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าของกลุ่มทดลองในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลต่ำกว่าในระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 2) คะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าของกลุ่มควบคุมในระยะหลัง การทดลองและระยะติดตามผลต่ำกว่าระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผล 3) คะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าของกลุ่มทดลองระยะติดตามผลต่ำกว่ากลุ่มความคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ในระยะหลังการทดลองไม่พบความแตกต่างระหว่างสองกลุ่ม
ที่มา
วารสารพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ปี 2556, September-December
ปีที่: 27 ฉบับที่ 3 หน้า 1-15
คำสำคัญ
Depression, ภาวะซึมเศร้า, Cognitive Behavior, Therapy Multi-Chanel Program, โปรแกรมการปรับความคิดและพฤติกรรมแบบหลายช่องทาง