การศึกษาแบบทดลองสุ่มเปรียบเทียบประสิทธิผลของ ergocalciferol ชนิดรับประทานขนาดสูงและขนาดมาตรฐานต่อการเพิ่มของระดับของ 25-hydroxyvitamin D และการลดลงของระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3-4 ที่มีภาวะพร่องวิตามินดี
ปรมัตถ์ ธิมาไชย, อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์, อำนาจ ชัยประเสริฐ, บัญชา สถิระพจน์*Division of Nephrology, Department of Medicine, Phramongkutklao Hospital and College of Medicine, Bangkok 10400, Thailand; Phone & Fax: +66-2-6444676; E-mail: satirapoj@yahoo.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ภาวะพร่องวิตามินดี พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีโรคไตเรื้อรังและพบร่วมกับการเพิ่มขึ้นของระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมน โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรังระยะท้าย ขนาดของ ergocalciferol รับประทานตามคำแนะนำของสมาคมโรคไตตาม Kidney Disease Outcomes Quality Initiative (K/DOQI) ในผู้ป่วยไตเรื้อรังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับ 25-hydroxyvitamin D และระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนไม่ชัดเจน
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่างการให้ ergocalciferol ชนิดรับประทานขนาดสูงเป็นสองเท่าและขนาดตามที่ K/DOQI แนะนำ ต่อการลดลงของระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมน และความปลอดภัยของการรักษาในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
วัสดุและวิธีการ: ผู้เข้าร่วมการศึกษาคือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 และ 4 ที่มีระดับ 25-hydroxyvitamin D ในเลือดตํ่ากว่า 30 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ผู้ป่วยถูกสุ่มเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มควบคุมให้ ergocalciferol ชนิดรับประทานในขนาดตามที่ K/DOQI แนะนำ และในกลุ่มทดลองเพิ่มขนาด ergocalciferol เป็นสองเท่าจากที่ K/DOQI แนะนำ ตรวจวัดระดับ 25-hydroxyvitamin D พาราไทรอยด์ฮอร์โมน แคลเซียม และฟอสเฟตในเลือดก่อนและหลังการรักษา โดยติดตามเป็นเวลา 8 สัปดาห์
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจำนวน 68 ราย มีกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 34 ราย ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยสองกลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกัน ยกเว้นค่าเฉลี่ยของระดับแคลเซียมในเลือดของกลุ่มทดลองมีค่า 9.12±0.56 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่มีค่า 9.44±0.38 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (p = 0.009) แต่อยู่ในเกณฑ์ปกติซึ่งไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก เมื่อสิ้นสุดการศึกษาที่ 8 สัปดาห์ ค่าเฉลี่ยของระดับ 25-hydroxyvitamin D ในเลือดของทั้งสองกลุ่ม เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยในกลุ่มทดลอง
เพิ่มจาก 20.99±6.68 เป็น 33.41±8.92 นาโนกรัม/มิลลิลิตร (p = 0.001) และในกลุ่มควบคุมเพิ่มจาก 20.84±7.21 เป็น 23.42±7.89 นาโนกรัม/มิลลิลิตร (p = 0.026) แต่ระดับ 25-hydroxyvitamin D ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มทดลองเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ค่า เฉลี่ยของพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดลดลงเฉพาะในกลุ่มทดลอง โดยลดจาก 90.75±67.12 เป็น 76.40±45.9 พิโคกรัม/มิลลิลิตร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.024) ส่วนในกลุ่มควบคุมกลับพบว่า ค่าเฉลี่ยของพาราไทรอยด์ฮอร์โมนไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือ จาก 97.14±83.52 เป็น 101.13±95.03 พิโคกรัม/มิลลิลิตร (p = 0.546) จากการศึกษานี้
พบว่าไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับแคลเซียมหรือฟอสเฟตในเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบผลข้างเคียงอื่นๆ
สรุป: นอกจากการเพิ่มระดับ 25-hydroxyvitamin D ในเลือดแล้ว ergocalciferol ขนาดสูงมีความปลอดภัย และมีประโยชน์ในการลดระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือด ซึ่งคาดว่ามีผลดีต่อการควบคุมเมตะบอลิสมของกระดูกในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 3-4
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2558, July
ปีที่: 98 ฉบับที่ 7 หน้า 643-648
คำสำคัญ
chronic kidney disease, Hyperparathyroidism, Ergocalciferol