การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ Omeprazole กับ Ranitidine ในการรักษาผู้ป่วยกรดไหลย้อนมาที่คอและกล่องเสียง
สมพงษ์ วาจาจำเริญ*, บุษรา วาจาจำเริญ, อาทิตยา ไทพาณิชย์, รัดเกล้า เพชรเกลี้ยง
กลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี; อีเมล์ : somphong148@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยา omeprazole เปรียบเทียบ กับยา ranitidine ในการรักษาผู้ป่วยกรดไหลย้อนมาที่คอและกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux;LPR)
วัสดุและวิธีการ : เป็นการศึกษาแบบ สุ่มตัวอย่าง ไปข้างหน้า ทำในผู้ป่วยที่มีค่า reflux symptom index(RSI) เท่ากับ 14 หรือมากกว่า โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับยา omeprazole ขนาด 20 มก. วันละ 2 ครั้งและกลุ่มที่ได้รับยา ranitidine ขนาด 150 มก.วันละ 2 ครั้ง โดยให้ยานาน 2เดือน การประเมินผลการศึกษาดูจากค่า RSI ก่อนการรักษาและหลังการรักษา 2เดือน
ผลการศึกษา : ได้ทำการศึกษาผู้ป่วย 86 ราย เป็นกลุ่ม omeprazole จำนวน 40 ราย และกลุ่ม ranitidine 46 ราย โดยมีคะแนน RSI รวมก่อนการรักษาของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน (RSI = 19.25 ± 4.48, RSI = 18.96 ± 4.2 ตามลำดับ; p = 0.755) หลังการรักษาทั้ง 2 กลุ่มมีค่า RSI ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001, p<0.001 ตามลำดับ) และเมื่อเปรียบเทียบค่า RSI ที่ดีขึ้นของทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ (p=0.66)
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยร่วมกับการรักษาด้วยยา โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการไม่รับประทานอาหารก่อนเข้านอนภายในเวลา 3 ชั่วโมง และการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา มีค่า RSI รวมที่ดีขึ้นมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับยารักษาแต่ยังไม่สามารถปรับพฤติกรรมดังกล่าวได้ (p=0.008, p=0.002 ตามลำดับ)
สรุป : การใช้ยา omeprazole มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกับการใช้ยา ranitidine ในการรักษาผู้ป่วยกรดไหลย้อนมาที่คอและกล่องเสียง
 
ที่มา
วารสารหู คอ จมูก และใบหน้า ปี 2555, January-April ปีที่: 13 ฉบับที่ 1 หน้า 64-73
คำสำคัญ
Omeprazole, Ranitidine, Laryngopharngeal reflux, Reflux symptom index, กรดไหลย้อนมาที่คอและกล่องเสียง