ผลของการฝึกกล้ามเนื้อหายใจเข้าต่อความสามารถในการทำกิจกรรมในผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
ปรียาภรณ์ สองศร*, ศศิภา บูรณพันธฤกษ์
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทคัดย่อ
การผ่าตัดหัวใจแบบเปิดมักเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการทำกิจกรรมลดลง การรักษาทางกายภาพบำบัด ได้แก่ การฝึกการหายใจ เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเพิ่มความสามารถในการทำกิจกรรม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการฝึกกล้ามเนื้อหายใจเข้า ต่อความสามารถในการทำ กิจกรรมในผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด วิธีการวิจัย: ผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่เข้ารับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด 14 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มโดยการสุ่ม กลุ่มทดลอง 8 คน และกลุ่มควบคุม 6 คน ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะได้รับการทำกายภาพบำบัดแต่ในกลุ่มทดลองจะได้ รับการฝึกกล้ามเนื้อหายใจเข้าร่วมด้วย ตัวแปรที่ศึกษาคือระยะทางที่เดินได้ใน 6 นาที โดยทำการประเมิน 2 ครั้ง คือ ก่อนการผ่าตัดและวันที่ 8 ภายหลังการผ่าตัด ผลการวิจัย: ระยะทางในการเดิน 6 นาที ภายหลังการผ่าตัดของทั้งสองกลุ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (กลุ่มควบคุม; ก่อนผ่าตัด 305.33 ±21.75 เมตร หลังผ่าตัด 185.62±20.79 เมตร, p<0.05) (กลุ่มทดลอง; ก่อนผ่าตัด 315.38±14.79 เมตร หลังผ่าตัด 261.06±16.05 เมตร, p<0.05) แต่กลุ่มควบคุมลดลง
มากกว่ากลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (หลังผ่าตัด; กลุ่มควบคุม 185.62±20.79 เมตร กลุ่มทดลอง
261.06±16.05 เมตร, p<0.05) สรุปผล: การผ่าตัดหัวใจแบบเปิดส่งผลให้ความสามารถในการกิจกรรม
ลดลง แต่การฝึกกล้ามเนื้อหายใจเข้าร่วมกับการรักษาทางกายภาพบำบัด ทำให้ความสามารถในการทำ
กิจกรรมของผู้ป่วยลดลงน้อยกว่าการการรักษาทางกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การฝึกกล้ามเนื้อหายใจเข้าจึงอาจเป็นวิธีการรักษาเพิ่มเติมได้
 
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2557, September-December ปีที่: 36 ฉบับที่ 3 หน้า 89-96
คำสำคัญ
Open heart surgery, Functional capacity, Inspiratory muscle training