ผลของโปรแกรมการออกกำลังกายแบบกลุ่มเพื่อฝึกการทรงท่าต่อความสามารถในการทรงท่าในผู้สูงอายุไทยเพศหญิงที่มีระดับกิจกรรมทางกายต่างกัน: การศึกษานำร่อง
สายธิดา ลาภอนันตสิน*, กฤตพร เติมกิจวาณิชย์, สุรินทร์ทิพย์ กิติทัศน์เศรณี, อุไรพร ปรางศรี
สาขากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ
บทคัดย่อ
บทนำ: ผู้สูงอายุที่มีระดับกิจกรรมทางกายอยู่ในระดับน้อย (inactivity) และระดับเบา (light activity)จะมี
ความเสี่ยงในการล้มสูงขึ้นกว่าผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมทางกายอยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป ดังนั้นการฝึกเพื่อ
พัฒนาความสามารถในการทรงท่าแก่ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น สายธิดาและคณะในปี ค.ศ. 2011ได้
พัฒนาโปรแกรมการออกกำลังกายแบบกลุ่มสำหรับสูงอายุกลุ่มดังกล่าวและพบว่าโปรแกรมนี้มีประสิทธิผล
ในการเพิ่มความสามารถการทรงท่าด้วยการฝึกเพียง 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม พื้นฐานระดับกิจกรรมทางกายที่ต่างกันอาจตอบสนองต่อการฝึกต่างกันได้ ดังนั้นหากทราบประสิทธิผลของโปรแกรมดังกล่าวต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่มีระดับกิจกรรมทางกายต่างกัน ย่อมสามารถปรับปรุงและนำโปรแกรมไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมต่อกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น
วัตถุประสงค์:เพื่อเปรียบเทียบผลของโปรแกรมการออกกำลังกายแบบกลุ่มของสายธิดาและคณะ ต่อการพัฒนาความสามารถในการทรงท่าระหว่างผู้สูงอายุเพศหญิงที่มีระดับกิจกรรมทางกายอยู่ในระดับน้อยและระดับเบา
ระเบียบวิธีวิจัย: ผู้สูงอายุไทยเพศหญิงที่มีระดับกิจกรรมทางกายในระดับน้อยและระดับเบาจำนวน 40 คน สุ่มแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ดังนี้ กลุ่มที่มีระดับกิจกรรมทางกายในระดับน้อยที่ได้รับการออกกำลังกาย (inactivity with exercise, IE) และไม่ได้รับการออกกำลังกาย (inactivity control, IC) และกลุ่มที่มีระดับกิจกรรมทางกายในระดับเบาที่ได้รับการออกกำ ลังกาย (light activity with exercise, LE) และไม่ได้รับการออกกำลังกาย (light activity control, LC) กลุ่มออกกำลังกายได้รับการฝึกตามโปรแกรม 30 นาที/ครั้ง 3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ วัดความสามารถในการทรงท่าด้วย Duncan functional reach test (FRT), One leg standing test (OLST) และ Timed up and go test (TUG) ก่อนฝึก (สัปดาห์ที่ 0) และหลังฝึกใน
สัปดาห์ที่ 2 และ 4วิเคราะห์สถิติโดยทดสอบผลของการฝึกร่วมกับระดับกิจกรรมทางกาย และระยะเวลาในการฝึกต่อประสิทธิภาพการทรงท่า(ค่า FRT, OLST และ TUG)ด้วย two-way ANOVA mixed model และpost hoc test ด้วย Bonferroni
ผลการวิจัย: เมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่ม พบการพัฒนาประสิทธิภาพการทรงท่าตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 เฉพาะกลุ่มที่ได้รับการฝึกเท่านั้น โดยกลุ่ม LE มีการพัฒนาทุกตัวแปรคือ FRT, OLST และ TUG  (p< 0.05) ส่วนกลุ่ม IE มีการพัฒนาเพียง FRT และ TUG (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มพบว่าก่อนการฝึกกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายระดับเบามีค่า TUG เร็วกว่ากลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายระดับน้อย (p<0.05) ภายหลังการฝึกใน wk2 และ wk4 พบว่า กลุ่ม LE มีประสิทธิภาพการทรงท่าดีขึ้นทุกตัวแปรเมื่อเทียบกับกลุ่ม IC (p< 0.05) ส่วนกลุ่ม IE และ LC มีเพียงค่า TUG ที่ดีกว่ากลุ่ม IC (p<0.01)
สรุปผลการวิจัย:โปรแกรมการออกกำลังกายแบบกลุ่มนี้ให้ประสิทธิผลในการพัฒนาความสามารถการทรงท่าแก่ผู้สูงอายุที่มีระดับกิจกรรมทางกายในระดับเบาได้เร็วและดีกว่าระดับน้อยดังนั้น โปรแกรมการออกกำลังกายแบบกลุ่มในชุมชนดังกล่าวจึงเหมาะสำหรับการฝึกเพิ่มความสามารถของการทรงท่าแก่ผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมทางกายอยู่ในระดับเบามากกว่าผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมทางกายอยู่ในระดับน้อย
 
ที่มา
วารสารกายภาพบำบัด ปี 2556, January-April ปีที่: 35 ฉบับที่ 1 หน้า 1-15
คำสำคัญ
elderly, Balance, Group exercise, physical activity levels