คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมียที่ต้องรับเลือดประจำที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
มาลัย ว่องชาญชัยเลิศ*, สารภึ ด้วงชู, สุดารัตน์ คชวรรณDepartment of Pediatrics, Faculty of Medicine, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkhla, 90110, Thailand; E-mail: malai.w@psu.ac.th
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมีย อายุ 5- 18 ปี ที่ได้รับเลือดเป็นประจำทุก 2-6 สัปดาห์ ที่แผนกผู้ป่วยนอกกุมารเวชกรรมของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง และใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตสำหรับเด็ก (PedsQLTM) รุ่นที่ 4.0 ฉบับภาษาไทย ผลการวิจับพบว่า ผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมียมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับดี โดยมีระดับคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวม (total summary score) เป็น 72.57±14.17 คะแนนเฉลี่ยด้านสังคมมีคะแนนสูงสุด รองลงมาคือ ด้านอารมณ์ ด้านร่างกาย และด้านโรงเรียน ลดลงมาตามลำดับ ปัจจัยทางด้านเพศ อายุ ศาสนา ชนิดของธาลัสซีเมีย ชนิดของยาขับเหล็กที่ได้รับ ระดับฮีโมโกลบินก่อนรับเลือด ระดับ serum ferritin สถานะเศรษฐกิจของครอบครัว รวมถึงระดับการศึกษาและอาชีพของผู้ดูแล พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) อย่างไรก็ตาม งานวิจัยครั้งนี้มีระดับคะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ยด้านร่างกายต่ำ ในเรื่องเกี่ยวกับการออกกำลัง และมีระดับคะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ยด้านโรงเรียนต่ำ ในเรื่องเกี่ยวกับการขาดเรียน การปรับแผนการให้เลือด ให้ผู้ป่วยมีระดับฮีโมโกลบินก่อนรับเลือดสูงขึ้น และพัฒนาศักยภาพการให้เลือดของโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อลดระยะเวลาการมารับบริการ อาจช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมียได้
ที่มา
สงขลานครินทร์เวชสาร ปี 2557, November-December
ปีที่: 32 ฉบับที่ 6 หน้า 353-363
คำสำคัญ
Quality of life, children, Thalassemia, คุณภาพชีวิต, ผู้ป่วยเด็ก, คุณภาพชี่วิต, โรคธาลัสซีเมีย