บทคัดย่อ
                การทับหม้อเกลือเป็นการดูแลหญิงหลังคลอดตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งใช่ในสถานบริการอย่างแพร่หลาย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการทับหม้อเกลือในหญิงหลังคลอด โดยศึกษาในหญิงหลังคลอด 60 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองทับหม้อเกลือแบบปรกติ 30 ราย และกลุ่มควบคุมทับหม้อเกลือแบบหลอก 30 ราย ก่อนและหลังการทดลองจะตรวจประเมินทางการแพทย์แผนไทย วัดสัดส่วนร่างกาย สีของน้ำคาวปลา ระดับความปวดกล้ามเนื้อและปวดมดลูกและความพึงพอใจ ผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ยระดับความปวดกล้ามเนื้อหลังการทดลองและระยะเวลาในการหายปวดกล้ามเนื้อระหว่างกลุ่มแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี = 0.04) ไม่พบความแตกต่างในทางสถิติของค่าเฉลี่ยระดับความปวดมดลูกและระยะเวลาในการหายปวดมดลูกระหว่างกลุ่ม ผลการเปรียบเทียบความแตกต่างของสัดส่วนของร่างกายก่อนและหลังคลอดทั้งสองกลุ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี < 0.001) กลุ่มทดลองมีสีของน้ำคาวปลาหลังการทดลองวันที่ 5 แตกต่างจากของกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่าพี = 0.008) กล่าวโดยสรุปการทับหม้อเกลือมีประสิทธิผลช่วยลดระดับความปวดกล้ามเนื้อและปวดมดลูก มีผลต่อสีของน้ำคาวปลา ให้ความพึงพอใจสูงและไม่พบอาการแทรกซ้อน จึงควรส่งเสริมให้มีการบริการทับหม้อเกลือในทุกโรงพยาบาลเพื่อฟื้นฟูสุขภาพให้หญิงหลังคลอด
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2557, May-August ปีที่: 12 ฉบับที่ 2 หน้า 144-158
คำสำคัญ
Thai traditional medicine, สมุนไพร, POSTPARTUM, herb, hot salt pot compression, ทับหม้อเกลือ, หญิงหลังคลอด, การแพทย์แผนไทย