การศึกษาแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมของการป้องกันปอดอักเสบติดเชื้อที่สัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจด้วย probiotics ที่มี Lactobacillus casei (Shirota strain)
ยงค์ รงค์รุ่งเรือง, ดนยา กระจ่างวิทยา, กิตติศักดิ์ ผลถาวรกุลชัย, สุรภี เทียนกริม, วิษณุ ธรรมลิขิตกุล*Division of Infectious Diseases and Tropical Medicine, Department of Medicine, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand; Phone & Fax: +66-2-4197783; E-mail: visanu.tha@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อทราบประสิทธิผลของ probiotics ที่มี Lactobacillus casei (Shirota strain) ในการป้องกันปอดอักเสบติดเชื้อที่สัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจ
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมในผู้ป่วยผู้ใหญ่ 150 ราย ซึ่งได้รับเครื่องช่วยหายใจอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ที่หอผู้ป่วยอายุรศาสตร์ ผู้ป่วยทุกรายได้รับการปฏิบัติรักษาตามปกติสำหรับการมีเครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยได้รับการสุ่มให้อยู่ในกลุ่ม probiotics หรือกลุ่มควบคุม ผู้ป่วยกลุ่ม probiotics ได้รับ probiotics ที่มี Lactobacillus casei (Shirota strain) ปริมาณ 80 มิลลิลิตร เช็ดช่องปากหลังทำความสะอาดตามปกติวันละครั้งและอีก 80 มิลลิลิตร ทางท่อให้อาหารวันละครั้ง ผลลัพธ์หลักคืออุบัติการณ์ของปอดอักเสบติดเชื้อที่สัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจ และอัตราปอดอักเสบติดเชื้อที่สัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจต่อ 1,000 วัน ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนผลลัพธ์รองคือระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล อัตราตายที่ 28 และ 90 วัน หลังร่วมโครงการศึกษาอุบัติการณ์ของอุจจาระร่วงและอัตราการพบแบคทีเรียดื้อยาจากตัวอย่างที่เก็บจากช่องปากและทวารหนักเมื่อเริ่มศึกษา วันที่ 7 และวันที่ 28 หลังเริ่มศึกษา
ผลการศึกษา: ลักษณะของผู้ป่วยกลุ่ม probiotics (75 ราย) และกลุ่มควบคุม (75 ราย) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ป่วยกลุ่ม probiotics มีแนวโน้มของการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อที่สัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจน้อยกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุม (ร้อยละ 24 และ 29.3, p = 0.46) อัตราการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อที่สัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยกลุ่ม probiotics มีแนวโน้มน้อยกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุม (22.64 และ 30.22 ต่อ 1,000 วัน ของการใช้เครื่องช่วยหายใจ, p = 0.37) ผู้ป่วยกลุ่ม probiotics มีแนวโน้มพบเชื้อดื้อยาจากช่องปากบางชนิดน้อยกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุม ส่วนอัตราตายที่ 28 วัน และ 90 วัน และระยะเวลาของการอยู่
โรงพยาบาลของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
สรุป: การให้ probiotics ที่มี Lactobacillus casei (Shirota strain) มีแนวโน้มลดอุบัติการณ์ของปอดอักเสบติดเชื้อที่สัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจและอัตราการพบเชื้อดื้อยาบางชนิดในช่องปากโดยไม่มีผลต่ออัตราตาย และระยะเวลาของการอยู่โรงพยาบาล
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2558, March
ปีที่: 98 ฉบับที่ 3 หน้า 253-259
คำสำคัญ
Prevention, Ventilator-associated pneumonia, probiotics, Lactobacillus casei (Shirota strain)