การศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบการทำ Intraoperative Cholangiography ด้วยวิธี Cystic Duct Cholangiography และ Cholecystocholangiography ระหว่างการทำ Laparoscopic Cholecystectomy
วิศิษฐ์ เกษตรเสริมวิริยะ*, ศุภกานต์ เตชะพงศธร, อมฤต ตาลเศวต, โสภณ เลิศศิริโสภณภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อีเมล: numnim106@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของการฉีดสีในท่อน้ำดีระหว่างการฉีดสีผ่านท่อถุงน้ำดีซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานเทียบกับการฉีดสีผ่านถุงน้ำดีในแง่ของ อัตราความสำเร็จ ระยะเวลาผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
วิธีดำเนินการวิจัย: ทำการสุ่มเลือกผู้ป่วยเป็นสองกลุ่มเท่าๆ กัน จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 86 ราย เพื่อทำการฉีดสีเข้าในท่อน้ำดีขณะทำการผ่าตัดส่องกล้องตัดถุงน้ำดี โดยกลุ่มแรกทำการฉีดสีผ่านท่อถุงน้ำดี และกลุ่มที่สองทำการฉีดสีผ่านทางถุงน้ำดี เปรียบเทียบอัตราสำเร็จในการทำ ระยะเวลาผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดระหว่างผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม
ผลการวิจัย: พบว่าการฉีดสีเข้าในท่อน้ำดีโดยวิธีการฉีดสีผ่านท่อถุงน้ำดีสามารถทำสำเร็จได้ร้อยละ 100 (43/43) ในกลุ่มที่หนึ่ง ในขณะที่อัตราความสำเร็จในการฉีดสีเข้าในท่อน้ำดีโดยวิธีฉีดผ่านถุงน้ำดีมีอัตราความสำเร็จร้อยละ 90.7 (39/43) (p = 0.12) กลุ่มที่ทำการฉีดสีผ่านท่อถุงน้ำดีใช้เวลาในการทำผ่าตัด เท่ากับ 15.2±11.2 นาที ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ทำการฉีดสีผ่านถุงน้ำดีที่ใช้เวลา 8.9±6.7 นาที อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01) ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
สรุป: การฉีดสีสู่ท่อน้ำดีโดยวิธีการฉีดผ่านถุงน้ำดีสามารถทำได้โดยไม่มีผลแตกต่างจากวิธีปกติ โดยอาจพิจารณาเป็นวิธีเลือกในกรณีไม่สามารถทำการฉีดสีผ่านท่อถุงน้ำดีได้
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2557, January-April
ปีที่: 58 ฉบับที่ 1 หน้า 1-7
คำสำคัญ
Laparoscopic cholecystectomy, IOC, Cholecystocholangiography