ความเข้มแข็งในการมองโลก แรงสนับสนุนทางสังคม และคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังการรักษา
พรนภา หีบจินดา*, ธิราภรณ์ จันทร์ดา, บัวหลวง สำแดงฤทธิ์
โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงบรรยายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มแข็งในการมองโลก แรงสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังการรักษา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังจากได้รับการรักษาแล้วอย่างน้อย 1 ปีจำนวน 70 ราย ที่มาติดตามการรักษาที่หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกศัลยกรรม โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจำนวน 4 ชุด ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคลและประวัติการรักษา แบบสอบถามความเข้มแข็งในการมองโลกฉบับย่อ แบบสอบถามแรงสนับสนุนทางสังคม และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงบรรยายและหาความสัมพันธ์โดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สันและสเปียร์แมนแรงค์ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังการรักษามีความเข้มแข็งในการมองโลก แรงสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตโดยภาพรวมสูง ผลการทดสอบความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสาม พบว่าความเข้มแข็งในการมองโลกมีความสัมพันธ์กับแรงสนับสนุนทางสังคม (r = 0.44, P<0.001) และกับคุณภาพชีวิต (r = 0.59, P<0.001) นอกจากนั้นยังพบว่า แรงสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตด้วย (r = 0.59, P<0.001) ผลการศึกษานี้สรุปได้ว่า ความเข้มแข็งในการมองโลกและแรงสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมภายหลังการรักษา กล่าวคือเมื่อผู้ป่วยมีความเข็มแข็งในการมองโลกสูงและได้รับแรงสนับสนุนทางสังคมดีย่อมทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการนำมาเป็นข้อมูลส่งเสริมความเข้มแข็งในการมองโลกและแรงสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี ถึงแม้ว่าได้จบการรักษาไปแล้ว
 
 
 
ที่มา
วารสารโรคมะเร็ง ปี 2557, April-June ปีที่: 34 ฉบับที่ 2 หน้า 92-103
คำสำคัญ
คุณภาพชีวิต, Social support, แรงสนับสนุนทางสังคม, Quality of life (QOL), คุณภาพชี่วิต, Sense of coherence, Breast cancer post-treatment, ความเข้มแข็งในการมองโลก, ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังการรักษา