ประสิทธิภาพและต้นทุนการใช้น้ำมันมะกอกน้ำมันมะกอกผสมเจล และเจล เป็นสื่อนำคลื่นเสียงเครื่องตรวจสภาวะทารกในครรภ์ภายนอก
สุภาพร ปรารมย์*, วัชรินทร์ สุนทรลิ้มศิริ, อ้อมใจ สิทธิจำลอง
โรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลและต้นทุนการใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันมะกอกผสมเจลและเจล เป็นสื่อนำคลื่นเสียงเครื่องตรวจสภาวะทารกในครรภ์ภายนอก ศึกษาในหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 32-42 สัปดาห์ ในห้องคลอดโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 90 ราย เก็บข้อมูล 1มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2556 แบ่งเป็น 3 กลุ่มๆละ 30 ราย คือ กลุ่มควบคุม คือ กลุ่มที่ใช้เจล กลุ่มทดลอง คือ กลุ่มที่ใช้น้ำมันมะกอกและกลุ่มที่ใช้น้ำมันมะกอกผสมเจล สุ่มเข้ากลุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลาก และปกปิดชนิดของสื่อนำคลื่นเสียง กราฟการตรวจ ประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือวิจัย คือเครื่องตรวจสภาวะทารกในครรภ์ภายนอก สื่อนำคลื่นเสียง แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบประเมิน ประสิทธิภาพสื่อนำคลื่นเสียง วิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติพรรณนา และสถิติวิเคราะห์ คือ One-way ANOVA test และ Fisher exact test ผลการศึกษา พบว่า ประสิทธิภาพความดัง ความคมชัดและความต่อเนื่องของกราฟ ทั้ง 3 กลุ่ม ไม่แตกต่างทางสถิติ ความคิดเห็นด้านความหนืด การแผ่กระจายของสารการทำความสะอาดนั้น ผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อน้ำมันมะกอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งความพึงพอใจต่อกลิ่น และความพึงพอใจโดยรวม ส่วนปฏิกิริยาการแพ้สารนำคลื่นเสียงทั้ง 3 กลุ่ม ไม่แตกต่างทางสถิติ และไม่มีความสัมพันธ์กับปฏิกิริยาการแพ้ น้ำมันมะกอกมีราคาต้นทุนน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ควรนำน้ำมันมะกอกมาใช้แทนเจลเป็นสื่อนำคลื่นเสียงเครื่องตรวจสภาวะทารกในครรภ์ภายนอก
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2557, September-October ปีที่: 23 ฉบับที่ 5 หน้า 870-878
คำสำคัญ
Olive oil, Sound media, น้ำมันมะกอก, external electronic fetal monitor, gel, เครื่องตรวจสภาวะทารกในครรภ์ภายนอก, สื่อนำคลื่นเสียง, เจล