คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับขาเทียมระดับเหนือเข่าและใต้เข่า
สุวิมล เสงี่ยมศักดิ์
กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลระยอง
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับขาเทียมระดับเหนือเข่าและใต้เข่า
รูปแบบและวิธีการวิจัย: เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบตัดขวาง ซึ่งกลุ่มประชากรศึกษาเป็นผู้ป่วยที่ได้รับขาเทียมระดับเหนือเข่าและใต้เข่าข้างใดข้างหนึ่ง ในโรงพยาบาลศรีสะเกษ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2554 – มิถุนายน 2555 โดยใช้แบบสอบถาม ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป และข้อมูลด้านคุณภาพชีวิต โดยใช้แบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF-THAI)
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 45 ปี คิดเป็นร้อยละ 85 เป็นเพศชาย 53 คน ร้อยละ 16 เป็นเพศหญิง 10 คน คิดเป็นร้อยละ 17.5 เป็นระดับเหนือเข่า 11 คน และร้อยละ 82.5 เป็นระดับใต้เข่า ผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านร่างกาย เท่ากับ 24.59 คะแนน คุณภาพชีวิตด้านจิตใจเท่ากับ 22.62 คะแนน คุณภาพชีวิตด้านสัมพันธภาพสังคมเท่ากับ 10.10 คะแนน คุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม เท่ากับ 27.32 คะแนน คุณภาพชีวิตโดยรวมเท่ากับ 91.32 คะแนน คุณภาพชีวิตโดยรวม ด้านร่างกาย ด้านสัมพันธภาพทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับกลาง ส่วนคะแนนคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ อยู่ในระดับดี ปัจจัยที่มีผลต่อคะแนนคุณภาพชีวิต ได้แก่ เพศ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวม ด้านสุขภาพกาย และด้านจิตใจ พบว่า เพศชายมีคะแนนคุณภาพชีวิตสูงกว่าเพศหญิง ส่วนความเพียงพอต่อรายได้เป็นปัจจัยที่มีผลต่อคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวม และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่รู้สึกว่ารายได้นั้นเพียงพอ มีคะแนนคุณภาพชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่รู้สึกว่ารายได้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อคะแนนคุณภาพชีวิตด้านสัมพันธภาพทางสังคม คือ ระยะเวลาที่ได้ใช้ขาเทียม โดยพบว่าผู้ป่วยที่ได้ใช้ขาเทียมมานาน 6 เดือน – 1 ปี และ 1-5 ปี มีคะแนนคุณภาพชีวิตต่างกันอย่างมีนัยสำคัญและในผู้ป่วยที่ได้ใช้ขาเทียมมานาน 6 เดือน – 1 ปี และ 5-10 ปี มีคะแนนคุณภาพชีวิตต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
สรุป: จากผลการศึกษาคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวม ด้านร่างกาย ด้านสัมพันธภาพทางสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ในระดับกลาง ส่วนคะแนนคุณภาพชีวิตด้านจิตใจอยู่ในระดับดี
 
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลมหาสารคาม ปี 2557, May-August ปีที่: 11 ฉบับที่ 2 หน้า 92-97
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Amputee, Lower limb prosthesis, ขาเทียม, ผู้ป่วยขาขาด, คุณภาพชี่วิต