ผลของสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว
บุญเยี่ยม คำชัย, เพ็ญพักตร์ อุทิศ*
คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย E-mail: penpaktr-uthis@yahoo.com
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดสองครั้ง โดยมีการสุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วก่อน และหลังได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่ม 2) เปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก ของสถานบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 36 คน ได้รับการจับคู่ด้วย เพศ ระดับคะแนนอาการซึมเศร้า และระดับคะแนนอาการแมเนีย แล้วถูกสุ่มเข้ากลุ่มทดลองจำนวน 18 คน และกลุ่มควบคุมจำนวน 18 กลุ่มทดลอง ได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) โปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่ม 2) แบบวัดความรู้เรื่องโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว 3) แบบวัดการรับรู้เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบ 4) แบบประเมินคุณภาพชีวิต 5) แบบประเมินอาการซึมเศร้า และ 6) แบบประเมินอาการแมเนียเครื่องมือชุด 1, 2 และ 3 ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน เครื่องมือชุดที่ 2 มีค่าความเที่ยงคูเดอร์ริชาร์ดสัน (KP-20) เท่ากับ 0.78 และเครื่องมือชุดที่ 3, 4, 5 และ 6 มีค่าความเที่ยงอัลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.74, 0.79, 0.79 และ 0.75 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test)
                ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
  1. คะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วหลังได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (t = 8.65)
  2. คะแนนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วหลังได้รับโปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่มสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (t = 2.32)
 
ที่มา
วารสารพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ปี 2554, September-December ปีที่: 25 ฉบับที่ 3 หน้า 110-127
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, Gruop psychoeducation program, Bipolar disorder patients, โปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแบบกลุ่ม, ผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว