ปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งในประเทศไทย
บุษกร พันธ์เมธาฤทธิ์*, พิสมัย วัฒนสิทธิ์, อุทัยวรรณ พุทธรัตน์
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
                การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งตามการรับรู้ของผู้ป่วยเด็กและผู้ดูแลเด็ก เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด คือ ผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งวัยเรียนและวัยรุ่นที่เคยได้รับยาเคมีบำบัดอย่างน้อย 1 ครั้ง มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกและใน กุมารเวชกรรมของโรงพยาบาล 8 แห่งใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนผู้ดูแลเป็นบิดามารดาหรือผู้เลี้ยงดูที่มาดูแลผู้ป่วยที่เจ็บป่วยในครั้งนี้ กลุ่มละ 603 ราย การเก็บข้อมูลใช้แบบสอบถาม 5 ชุด ได้แก่ 1) ข้อมูลส่วนบุคคลและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 2) พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง 3) พฤติกรรมการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งของผู้ดูแลเด็ก 4) คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งตามการรับรู้ของผู้ป่วยเด็ก และ 5) คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งตามการรับรู้ของผู้ดูแลเด็ก ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาและความเที่ยงของเครื่องมือชุดที่ 2-5 ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ 0.87, 0.85, 0.93 และ 0.90 ตามลำดับ วิเคราะห์ปัจจัยทำนายด้วยสถิติวิเคราะห์การถดถอยพหุแบบพร้อมกัน ผลการศึกษาพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งตามการรับรู้ของผู้ป่วยเด็กและผู้ดูแลเด็กโดยรวม 4 ภูมิภาคและในแต่ละภูมิภาคอยู่ในระดับสูง ยกเว้นภาคอีสานมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลาง โดยทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ดูแลเด็กจากภาคใต้มีการรับรู้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งโดยรวมสูงสุดในขณะที่กลุ่มจากภาคอีสานมีการับรู้คุณภาพชีวิตโดยรวมต่ำสุด พฤติกรรมการดูแลตนเอง ระยะเวลาการเจ็บป่วย และความเพียงพอของรายได้ สามารถร่วมกันทำนายคุณภาพชีวิตโดยรวมตามการรับรู้ของเด็กป่วยได้ร้อยละ 17.5 (p < 0.01) และพฤติกรรมการดูแลเด็กสัมพันธภาพในครอบครัว ความเพียงพอของรายได้ และระยะเวลาการเจ็บป่วยของเด็ก สามารถร่วมกันทำนายคุณภาพชีวิตโดยรวมตามการรับรู้ของผู้ดูแลเด็กได้ร้อยละ 17.6 (p< 0.001) ดังนั้นพยาบาลจึงควรคำนึงถึงพฤติกรรมการดูแลและสัมพันธภาพในครอบครัว เพราะเป็นปัจจัยที่สามารถส่งเสริม ชี้แนะให้ผู้ป่วยเด็กและผู้ดูแลปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งดียิ่งขึ้น
 
ที่มา
วารสารโรคมะเร็ง ปี 2557, January-March ปีที่: 34 ฉบับที่ 1 หน้า 3-17
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, CAREGIVERS, คุณภาพชี่วิต, cancer children, ผู้ดูแลเด็ก, ผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง, predictive factors, ปัจจัยทำนาย