การศึกษาเปรียบเทียบการใช้ atropine ร่วมกับ glycopyrrolate กับ atropine เพียงอย่างเดียว ในการแก้ฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อในระหว่างผ่าตัด
วิชัย อิทธิชัยกุลฑล, ชวิกา พิสิฏฐศักดิ์*, ณิชาวรรณ วิรัชพิสิฐ, ปวีณา เปียทอง, รุ่งเพ็ชร สุยะเวช, โรจนรินทร์ โกมลหิรัญDepartment of Anesthesiology, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University, Bangkok 10400, Thailand; Phone: 0-2201-1513; E-mail: chawika_p@hotmail.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ยาหย่อนกล้ามเนื้อได้นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัดวิสัญญีแพทย์จะแก้ฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อด้วย neostigmine ซึ่งเป็นยากลุ่ม anticholineserase ร่วมกับยา anticholinergic เพื่อป้องกันผลอันไม่พึงประสงค์ของยา neostigmine ในประเทศไทยใช้ยา atropine แก้ฤทธิ์ neostigmine มานานแล้ว แต่มีข้อเสียทำให้หัวใจเต้นเร็วในระยะสั้น ปัจจุบันเริ่มมีการนำ glycopyrrolate เข้ามาในประเท ศ ซึ่งมีหลักฐานทำให้เกิดหัวใจเต้นเร็วในระยะต้นน้อยกว่า ผู้นิพนธ์จึงมีความสนใจศึกษาเปรียบเทียบผลของยา glycopyrrolate ร่วมกับยา atropine ในการแก้ฤทธิ์ neostigmine
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลต่างของอัตราการเต้นของหัวใจ จากการใช้ยา glycopyrrolate 0.2 มก. ร่วมกับ atropine 0.6 มก. เปรียบเทียบกับ atropine 1.2 มก. เพื่อลดผลข้างเคียงของยา neostigmine 2.5 มก. ในการต้านฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อ
วัสดุและวิธีการ: ทำการศึกษาแบบสุ่มไปข้างหน้าและมีกลุ่มควบคุม มีผู้เข้าร่วมการศึกษา 51 ราย เป็นผู้ป่วย ASA I-II ที่มารับการผ่าตัดทางนรีเวช โดยวิธีการระงับความรู้สึกแบบทั่วไป ถูกสุ่มแบ่งเป็นสองกลุ่มด้วยคอมพิวเตอร์ ได้แก่ กลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองทั้งสองกลุ่มได้รับยาระงับความรู้สึกและยาหย่อนกล้ามเนื้อที่เหมือนกัน เมื่อเสร็จการผ่าตัด กลุ่มควบคุมได้รับยา atropine 1.2 มก. และ neostigmine 2.5 มก. กลุ่มทดลองได้รับยา glycopyrrolate 0.2 มก., atropine 0.6 มก. และ neostigmine 2.5 มก. มีการจดบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจก่อนฉีดยาและหลังฉีดยา ที่เวลา 1, 3, 5, 7 นาที และบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ ขณะอยู่ในห้องพักฟื้นที่เวลา 0, 15, 30, 46, 60 นาที ร่วมกับคะแนนปวดและการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะอื่นๆ
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในอายุ อัตราการเต้นของหัวใจก่อนให้ยา ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอัตราการเต้นของหัวใจหลังได้รับยาในทุกช่วงเวลาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.496) และไม่พบการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สรุป: การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ หลังการแก้ฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อด้วย neostigmine 2.5 มก. ร่วมกับ atropine 1.2 มก. ไม่มีความแตกต่างกัน neostigmine 2.5 มก. กับ atropine 0.6 มก. และ glycopyrrolate 0.2 มก. อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น atropine 0.6 มก. ร่วมกับ glycopyrrolate 0.2 มก. จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้อาการข้างเคียงของ neostigmine
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2557, July
ปีที่: 97 ฉบับที่ 7 หน้า 705-709
คำสำคัญ
atropine, heart rate, Glycopyrrolate