ผลการเยี่ยมก่อนผ่าตัดทางโทรศัพท์ต่อระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดก้อนเนื้องอกที่เต้านมแบบไม่พักค้างในโรงพยาบาล
ประทุม เสลานนท์*, เพ็ญปวีณ จตุรพิธโพธิ์ทอง
งานการพยาบาลผ่าตัด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการเยี่ยมก่อนผ่าตัดทางโทรศัพท์ต่อระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดก้อนเนื้องอกที่เต้านมแบบไม่พักค้างในโรงพยาบาล (same day surgery) ณ หน่วยผ่าตัดศีรษะ คอ เต้านม โรงพยาบาลศิริราช
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยกึ่งทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยที่รอเข้ารับการผ่าตัดก้อนเนื้องอกที่เต้านมที่ได้รับการระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย จำนวน 94 คน โดยใช้วิธีการจับฉลากเข้ากลุ่มทดลอง 47 คน และกลุ่มควบคุม 47 คน กลุ่มทดลองจะได้รับการเยี่ยมทางโทรศัพท์ก่อนผ่าตัด 1 วัน ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับการพยาบาลตามปกติ ในการประเมินความวิตกกังวลของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มใช้แบบประเมิน The Hospital Anxiety and Depression Scale ฉบับภาษาไทย มีค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธ์แอลฟาคอนบราค เท่ากับ 0.87 การเยี่ยมทางโทรศัพท์ก่อนผ่าตัดจะให้ความรู้ผู้ป่วยเกี่ยวกับการผ่าตัด การปฏิบัติตัวก่อน ขณะและหลังผ่าตัด สภาพแวดล้อมในห้องผ่าตัด การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานใช้สถิติ Independent t-Test
ผลการวิจัย: พบว่าผู้ป่วยกลุ่มทดลองที่ได้รับการเยี่ยมก่อนผ่าตัดทางโทรศัพท์ไม่มีความวิตกกังวล (x̄±SD = 6.70±4.58) ส่วนกลุ่มควบคุมที่ได้รับการพยาบาลตามปกติมีความวิตกกังวลเล็กน้อย (x̄±SD = 7.30±3.20) และพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มทอลองและกลุ่มควบคุมมีความวิตกกังวลไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P >0.05)
สรุป: การเยี่ยมก่อนผ่าตัดทางโทรศัพท์สามารถช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดก้อนเนื้องอกที่เต้านมแบบไม่พักค้างในโรงพยาบาลได้
ที่มา
วารสารพยาบาลศิริราช ปี 2555, January-June ปีที่: 1 ฉบับที่ 5 หน้า 29-39
คำสำคัญ
ระยะก่อนผ่าตัด, Anxiety, ความวิตกกังวล, การเยี่ยมก่อนผ่าตัดทางโทรศัพท์, Preoperative phase, Pre-operative Visiting by Telephone, Same day surgery, การผ่าตัดแบบไม่พักค้างในโรงพยาบาล