ผลของการรูปแบบการพยาบาลเจ้าของไข้ต่อความรู้ของพยาบาลและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ประภาภรณ์ บุญสม*, จินต์จุฑา รอดพาล, สมคิด ตรีราภี
กลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งการทดลอง (Quasi-experimental research) แบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลังการทดลอง (One group pretest-posttest design) มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความรู้ของพยาบาลก่อนและหลังการใช้รูปแบบการพยาบาลเจ้าของไข้ และเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้ายก่อนและหลังการใช้รูปแบบการพยาบาลเจ้าของไข้ โดยพัฒนารูปแบบการพยาบาลเจ้าของไข้ของสุปรียา ดียิ่ง คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) เป็นพยาบาลวิชาชีพที่ให้การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จำนวน 30 คน ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เข้ารับการรักษาแผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จำนวน 30 คน รูปแบบการพยาบาลเจ้าของไข้ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 สร้างสัมพันธภาพ ระยะที่ 2 การให้การพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ระยะที่ 3 การจำหน่ายผู้ป่วย ใช้เวลา 8 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบวัดความรู้พัฒนามาจากแบบวัดความรู้พยาบาลวิชาชีพของสุปรียา ดียิ่ง ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .61 และแบบวัดคุณภาพชีวิตที่ผู้วิจัยพัฒนามาจากแบบวัดคุณภาพชีวิตของ Ferrrell มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .81 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ dependent t-test
                ผลการวิจัยพบว่า ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของพยาบาลวิชาชีพหลังการพัฒนา มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 25.03 (S.D. = 2.44) มากกว่าก่อนการพัฒนาที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 22.53 (S.D. = 4.18) อย่างมีนัยสำคัญ (p = .000) และคุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่าง หลังการพัฒนาโดยรวมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทำให้ คะแนนเฉลี่ยที่เป็นสิ่งรบกวนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ (x̄= 165.13, S.D. = 44.86) น้อยกว่าก่อนการพัฒนา (x̄=237.60, S.D. = 39.36) อย่างมีนัยสำคัญ (p = .000) ผลการวิจัยครั้งนี้ใช้เป็นแนวทางสำหรับผู้ปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ตรงตามปัญหาและสอบสนองความต้องการของผู้ป่วย ส่งเสริมความรู้ความสามารถในการทำงานของพยาบาลเกิดการพัฒนาคุณภาพบริการ ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการดูแลแบบองค์รวมมีคุณภาพชีวิตที่ดี เกิดความพึงพอใจคุณภาพบริการการพยาบาล และผู้บริหารสามารถนำไปพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา
วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ปี 2555, September-December ปีที่: 3 ฉบับที่ 2 หน้า 299-308
คำสำคัญ
รูปแบบการพยาบาลเจ้าของไข้, คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย