ผลของการให้บุตรสัมผัสและดูดนมเร็วต่ออัตราการให้นมบุตรด้วยนมแม่อย่างเดียว ในคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร
ภรานนท์ ลิมป์รัชตามร*, เกษมสิษฐ์ แก้วเกียรติคุณ
Department of Obstetric and Gynecology, Faculty of Medicine Vajira Hospital, University of Bangkok Metropolis, Bangkok 10300, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ระหว่างกลุ่มแม่ที่เริ่มให้บุตรสัมผัสและดูดนมแม่ภายใน 30 นาที เปรียบเทียบกับกลุ่มแม่ที่เริ่มให้บุตรสัมผัสและดูดนมแม่ภายหลัง 30 นาทีหลังคลอด
วัสดุและวิธีการ: หญิงตั้งครรภ์ ครรภ์แรกครบกำหนดจำนวน 50 คน ที่คลอดบุตรปกติ ที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ถูกคัดเข้าร่วมการศึกษา โดยแบ่งผู้เข้าร่วมการศึกษาออกเป็นกลุ่มที่บุตรสัมผัสและดูดนมแม่ภายใน 30 นาที และกลุ่มที่บุตรสัมผัสและดูดนมแม่หลังจาก 30 นาที กลุ่มละ 26 และ 24 รายตามลำดับ จากนั้นจะมีการเก็บข้อมูลอายุ, การศึกษา, อาชีพ, รายได้, วิธีการคลอด, วันลา รวมทั้งบันทึกเวลาคลอดบุตร และเริ่มให้สัมผัสและดูดนมแม่โดยใช้การติดตามกลุ่มตัวอย่างโดยโทรศัพท์สัมภาษณ์ที่เวลา 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 เดือนหลังคลอด
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 50 คน แต่ไม่สามารถติดตามได้จำนวน 4 คน จึงเหลือผู้เข้าร่วมการวิจัย 46 คน เป็นกลุ่มที่สัมผัสและดูดนมแม่ภายใน 30 นาที 26 ราย (56.5%) และกลุ่มที่สัมผัสและดูดนมแม่หลังจาก 30 นาที 20 ราย (43.5%) พบว่าในเดือนแรกทั้งสองกลุ่มมีอัตราการให้นมบุตรอย่างเดียวถึง 100% และอัตราการให้นมบุตรลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละเดือนตามลำดับ (p = 0.481, 0.151, 0.300, 0.603 และ 0.492 ที่ 2 ถึง 6 เดือนหลังคลอด)
สรุป: ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของอัตราและระยะเวลาการเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่อย่างเดียว ระหว่างกลุ่มแม่ที่ให้บุตรสัมผัสและดูดนมแม่ภายใน 30 นาทีหลังคลอด และกลุ่มแม่ที่ให้บุตรสัมผัสและดูดนมแม่ภายหลัง 30 นาทีหลังคลอด
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2556, July ปีที่: 3 ฉบับที่ 21 หน้า 101-109
คำสำคัญ
exclusive breastfeeding, ten steps to successful breastfeeding, WHO